โครงการประกวดภาพถ่าย “สัตว์มีค่าป่ามีคุณ” 27ปี ซีพีร่วมอนุรักษ์ป่า-สัตว์ป่าเมืองไทย

ในช่วงเวลาที่เครือฯดำเนินกิจการมา 100ปี เครือซีพี มีแนวความคิดในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่ามาตั้งแต่เริ่มต้น เห็นได้จาก ท่านประธานผู้ก่อตั้ง ประธานจรัญ เจียรวนนท์ เห็นว่าช่วงเวลานั้นรัฐบาลไทยได้มีนโยบายส่งเสริมให้คนไทยหันมาเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภค ทำให้กระแสความนิยมเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้นเพื่อไว้เป็นอาหารในบ้านและค้าขาย แต่เวลานั้นยังขาดแคลนอาหารสัตว์ดีๆที่จะให้สัตว์บริโภค การเลี้ยงสัตว์ก็ปล่อยให้สัตว์หากินเองตามธรรมชาติหรือเป็นแค่เศษอาหารหรือพืชผัก

ประธานจรัญและ คุณสงวน ประเดิมสุข พี่เขยท่านประธานจรัญมองเห็นโอกาสทางธุรกิจทางด้านอาหารสัตว์ ด้วยความคิดในการนำเอาผลผลิตทางการเกษตรที่เหลือทิ้งมาสร้างมูลค่าด้วยการทำเป็นวัตถุดิบสำหรับทำอาหารสัตว์ ซึ่งถือเป็นแนวคิดแบบ Green Economic ที่มีมานาน ประกอบกับแนวทางที่ได้รับการถ่ายทอดในเรื่องของคุณภาพของสินค้าที่มีมาแต่คุณพ่อและคุณอาผู้ก่อตั้งร้านเจียไต๋ จนมาถึงยุคที่ท่านประธานอาวุโสประธานธนินท์ เจียรวนนท์เป็นผู้นำได้ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิต เป็นการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่า และเครือซีพีตระหนักเสมอมาว่าการทำการเกษตรจะต้องมีธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมที่สมดุลเอื้อให้การเพาะปลูกเป็นไปตามฤดูกาล เพราะการทำเกษตรมีความเสี่ยงในเรื่องของสภาพดินฟ้าอากาศ ด้วยเหตุนี้เครือซีพีและผู้บริหารต่างให้ความสำคัญและมีส่วนที่จะสนับสนุนกิจกรรม โครงการด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนหรือมีส่วนร่วมในการปลูกป่า ฟื้นฟูป่า

ดร.อาชว์-ดร.ชวาล 2ผู้ริเริ่มโครงการ
สำหรับโครงการประกวดภาพถ่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” เป็นอีก1โครงการในการส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เครือซีพีที่ริเริ่มโดยดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานอาวุโส เมื่อสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทเทเลคอมเอเชียหรือทรูในปัจจุบัน

ด้วยประสบการณ์ส่วนตัวดร.อาชว์เป็นผู้ที่ชื่นชอบเรื่องการเดินป่า ดูนกและบันทึกภาพในธรรมชาติท่านได้มีโอกาสพบกับดร.ชวาล ทัฬหิกรณ์ อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้ที่ทำงานด้านอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ป่าและได้มีโอกาสริเริ่มโครงการด้านความรับผิดชอบสังคม หรือ CSR ร่วมกันในการส่งเสริมและปลูกฝังเด็กๆและเยาวชนที่ขาดโอกาสรวมทั้งลูกหลานพนักงานเทเลคอมเอเชียได้ทำกิจกรรมเรียนรู้ ศึกษาธรรมชาติผ่านการออกค่ายและต่อมาจัดตั้งเป็นโครงการ “ห้องเรียนธรรมชาติ” นำเด็กๆและเยาวชนในเมืองออกไปศึกษาธรรมชาติ เดินป่า ดูนก จนกลายเป็นที่รู้จักเมื่อราวปี 2537 เป็นต้นมา

จากความคุ้นเคยและมีความตั้งใจของดร.อาชว์และดร.ชวาล ที่ชื่นชอบการเดินป่า ดูนกและบันทึกภาพ ทำให้เกิดแนวความคิดและริเริ่มการจัดกิจกรรม โครงการด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกันอีกหลายโครงการรวมทั้งการริเริ่มให้มีการจัดประกวดภาพถ่ายอนุรักษ์ธรรมชาติภายใต้ชื่อโครงการ “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนที่รักการถ่ายภาพ มีโอกาสเรียนรู้และถ่ายทอดเรื่องราวคุณค่าของทรัพยากรสัตว์ป่าและป่าไม้ รวมทั้งระบบนิเวศผ่านภาพถ่ายที่สวยงามเพื่อสื่อเรื่องราวให้สังคมรับรู้ ตระหนัก และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สัตว์ป่า ป่าไม้และระบบนิเวศของประเทศไทยนำภาพถ่ายที่ผ่านการตัดสินไปเผยแพร่ขยายผลกับประชาชนทุกภาคส่วนให้รับรู้แล ตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรสัตว์ป่า ป่าไม้และระบบนิเวศของประเทศไทย ให้เกิดจิตสำนึกในการดูแลรักษาอย่างยั่งยืนและนำไปจัดพิมพ์และเผยแพร่ความงดงามและถ่ายทอดเรื่องราวเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้น เสมือนดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูณ์ของสัตว์ป่าและผืนป่าในประเทศไทย และยังได้สร้างและขยายเครือข่ายการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยในการช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรสัตว์ป่า ป่าไม้ และระบบนิเวศของประเทศไทยและของโลก

27ปี ที่ยาวนานกับการปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติคนไทย
โดยเริ่มการประกวดเป็นปีแรกในปี2538 และมีการจัดประกวดติดต่อกันมายาวนานจนถึงปัจจุบันรวม 27ปี แม้ว่าในบางช่วงปีจะประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจ แต่โครงการก็ยังคงดำเนินเรื่อยมาจนแวดวงการประกวดภาพและการอนุรักษ์ธรรมชาติของเมืองไทยให้การยอมรับและถือว่า “โครงการประกวดภาพถ่ายสัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” เป็นสถาบันการถ่ายภาพที่มีบทบาทสำคัญหนึ่งของประเทศไทย ด้วยมีความต่อเนื่องยาวนานแล้ว โครงการฯยังมีรางวัลที่มีคุณค่าเป็น ถ้วยพระราชทานถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีและถ้วยประทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

กรรมการตัดสินกูรูทุกวงการของไทย
ที่สำคัญโครงการนี้ยังมีคณะกรรมการตัดสินที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและเป็นผู้รู้ มีประสบการณ์จากทั้งแวดวงวิชาการด้านป่าไม้ สัตว์ป่า ด้านศิลปะ ด้านการถ่ายภาพ ด้านการอนุรักษ์ไม่ว่าจะเป็น ดร.ชวาล ทัฬหิกรณ์ เอง อาจารย์วิบูลย์ ลี้สุวรรณ ม.ลปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสัตว์ป่า ,คุณดวงดาว สุวรรณรังษี ,คุณวรนันท์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ,คุณบารมี เต็มบุญเกียรติ ช่างภาพสัตว์ป่าและธรรมชาติ เป็นต้น ทำให้การตัดสินภาพถ่ายของโครงการถูกพิจารณาอย่างรอบด้านและรอบครอบ โปร่งใส่ จนเป็นที่ยอมรับของวงการประกวดภาพถ่ายเมืองไทย

ตลอด 27ปีที่ผ่านมาของการจัดประกวดทำให้มีผู้เข้ามาร่วมกิจกรรมมากมายทั้งระดับนักศึกษา นักเรียน ประชาชน มีภาพมากกว่าหมื่นภาพที่มีความสวยงาม มีเรื่องราวของป่าไม้และสัตว์ป่าที่หาชมได้ยาก ซึ่งทำให้ทุกครั้งที่มีการจัดนิทรรศการภาพถ่าย ผู้เข้าชมที่เป็นคนไทยแทบไม่เชื่อว่าภาพที่ปรากฏเป็นภาพในเมืองไทยที่สวยสด งดงาม มีมุมภาพที่แปลกตา รวมทั้งพฤติกรรมของสัตว์ป่าที่ไม่ค่อยได้พบเห็น ทำให้เกิดความภูมิใจ ประทับใจและรักป่าและสัตว์ป่าของเมืองไทย

CP Story หวังว่าชาวซีพีจะได้รับรู้ ร่วมภาคภูมิใจกับโครงการนี้ที่ดำเนินมายาวนาน จนเป็นที่ยอมรับและมีคุณค่าต่อการส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในหมู่คนไทย