อจ.มนตรี คงตระกูลเทียน อีก1ผู้บริหารซีพีแบบเรียนของคนสู้ชีวิต

อจ.มนตรี คงตระกูลเทียน เป็นผู้บริหารซีพีที่เติบโตจากงานด้านการเกษตรที่ผ่านเรื่องราวการต่อสู้กับชีวิตและงานที่น่าเรียนรู้อีกคนหนึ่งของอนุชนคนซีพี

ย้อนไปเมื่อ25ปีที่แล้ว อจ.เคยให้สัมภาษณ์วารสาร”บัวบาน”สื่อภายในของเครือฯยุคนั้นว่าต้องต่อสู้กับชีวิตมาตลอดตอนเด็กๆต้องสูญเสียคุณพ่อ คุณแม่ต้องเลี้ยงลูกอย่างยากลำบากแต่ได้โอกาสจากคุณแม่ที่เหนื่อยยากให้โอกาสเรียน อาจารย์จบมัธยมปลายจาก รร. วัดสุทธิวราราม แล้วมาสอบเข้าติดคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ สาขาเศรษฐศาสตร์เกษตรในสมัยนั้น และอยู่ลำดับต้นๆของการประกาศรายชื่อผู้สอบเข้าได้ สุดท้ายตอนจบในปี 2517 ได้เกียรตินิยม จากนั้นอาจารย์ก็ได้รับทุนร็อกกี้เฟลเลอร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ไปเรียนต่อทางสาขาธุรกิจการเกษตรที่ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อกลับมาเป็นอาจารย์และช่วยพัฒนาหลักสูตรกับอาจารย์ที่ไปเรียนด้วยกันร่วมกับภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและ เปิดเป็นสาขาหนึ่งแห่งแรกของประเทศไทย ในปี 2519 ที่จบกลับมาเป็นอาจารย์

หลังจากอยู่ที่ ม.เกษตรได้ 4 ปีในปี 2522 ได้มาเริ่มชีวิตจริงภาคปฎิบัติของธุรกิจการเกษตรที่ซีพีด้วยการเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดที่บริษัทกรุงเทพโปรดิ้วส์ จำกัดส่งเสริมพันธ์ุข้าวโพด Hybrid ลูกผสมที่ทำให้เกษตรกรไทยเริ่มรู้จักเมล็ดพันธ์ HYV มากขึ้น

อจ.มนตรีเล่าว่าสมัยที่คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์เป็นรองกก.ผจก.ใหญ่อาวุโส เครือดูแลบริษัทกรุงเทพโปรดิ๊วส์ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลวัตถุดิบสำคัญให้กับธุรกิจอาหารสัตว์ของซีพี ได้ชวนมาทำงานเมื่อปี2522 ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด

อจ.บอกตอนนั้นลำบากพอควรเพราะเกษตรกรยังไม่รู้จักการใช้เมล็ดพันธุ์ พ่อค้าคนกลางเอาเมล็ดพืชที่เก็บเกี่ยวมาทำเป็นเมล็ดพันธุ์ขายกิโลละ 3บาท ขณะที่ซีพีขายกิโลละ 10บาท แต่โชคดียังขายได้300ตันก็เริ่มขยายการผลิตและมาเจอวิกฤตในปี2525พืชไร่ราคาตก เกษตรกรไม่มีกำลังซื้อ ส่งผลต่อธุรกิจจนต้องมาปรับกลยุทธ์ ปรับองค์กร

จนได้ ดร.เอนก ศิลปพันธุ์ และ ดร.ภูมิสรรค์ มาช่วยค้นคว้าพัฒนาพันธุ์ใหม่ๆออกมาจน ปี2534 ค้นพบข้าวโพดพันธุ์ลูกผสม888ที่ทนแล้งมากกว่า 45วันและให้ผลผลิตมากกว่า1,000 กก./ไร่ สร้างขวัญ กำลังใจกับทีมงาน

อาจารย์ยังได้ชวน คุณสุวิทย์ กิ่งแก้ว (ผู้บริหารซีพีออลล์) เพื่อนร่วมรุ่นมาบุกเบิกตลาดนี้ให้กับซีพี นอกจากนี้ยังมี คุณวิวัฒน์ ไม้แก่นสาร และอีกหลายคน มาช่วยงานที่บริษัทด้วย

จากนั้นไม่นาน อาจารย์ได้เป็นผู้จัดการทั่วไปของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดภัณฑ์ จำกัด จนในที่สุดมาเป็น CEO ให้กับธุรกิจพืชครบวงจรในเครือเจริญโภคภัณฑ์ และปัจจุบันเป็นรองประธานของกลุ่มพืชครบวงจร และเป็นคณบดีคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่ทางเครือซีพีมอบหมายให้ อาจารย์มาเตรียมสร้างคนรุ่นใหม่ในอนาคต

อจ.บอกว่างานเกษตรคนที่จะทำงานต้องมีความละเอียดอ่อน ต้องยอมรับคำตำหนิ ไม่ท้อแท้ ไม่เสียกำลังใจและพร้อมพัฒนาปรับปรุง ต้องมีจิตวิทยา มนุษย์สัมพันธ์ที่ดีเพราะต้องทำงานกับเกษตรกรจำนวนมาก ทำอย่างไรให้เกษตรกรยอมรับเทคโนโลยีจากเรา ต้องทำทุกขั้นตอนให้เกษตรกรเห็น ทำแบบครบวงจรเพราะการส่งเสริมชาวบ้านต้องมุ่งมั่นที่จะช่วยเกษตรกรไม่ใช่นึกแต่จะขายของ แต่เป็นการนำเทคโนโลยีที่ดีมาให้เกษตรกรใช้

เพื่อนๆเศรษฐศาสตร์เคยู 30 ถือว่าอาจารย์เป็นผู้มีบทบาทในวงการธุรกิจเกษตรที่ต่อยอดจากวิชาการในมหาวิทยาลัย มาสู่ภาคปฎิบัติให้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อย่างเป็นรูปธรรม จนได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ในปี 2528 อาจารย์ได้แต่งงานกับสาวไทย ใจดีพูดได้หลายภาษาและเป็นผู้บริหารในเครือซีพีโดยเจอกันตอนอาจารย์ เข้าทำงานใหม่ๆเจอสาวสวยท่านนี้ร้องเพลงจีนบนเวที และเป็นพิธีกรที่นุ่มนวลพูดจีนคล่องกว่าภาษาไทย เป็นคนแปลจีนเป็นไทย อังกฤษเป็นไทยในสมัยที่อังกฤษคืนเกาะฮ่องกงให้กับจีนทางช่อง 5 นั่นคือ คุณพัชรี คงตระกูลเทียน

อาจารย์เป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมทั้งยังถวายงานด้านการเกษตรที่ภูฟ้า จ.น่าน ให้กับ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แล้วยังเป็นกรรมการมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมท์อีกด้วย

วันนี้อจ.มนตรีได้ทุ่มเทเวลาในตำแหน่งคณบดีคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตรนำประสบการณ์หลายสิบปีในการบุกเบิกงานวิจัย งานวิชาการ งานที่เกี่ยวกับธุรกิจพืชไร่ พืชสวน ร่วมกับอาจารย์ของคณะฯและเครือข่ายสถานประกอบการสร้างหลักสูตรการเรียนการสอน”ปั้น”นักจัดการเกษตรรุ่นใหม่ด้วยหลักสูตรที่สอนให้คนรุ่นใหม่เห็นและปฏิบัติในธุรกิจเกษตร4.0 รับความรู้ทางวิชาการ และมุมมองทางธุรกิจจากประสบการณ์ตรงของอาจารย์ รวมทั้งผู้ประกอบการต่างๆแล้วฝึกคิด วิเคราะห์และการทำงานแบบ work base learning ทำโครงการ หรือโมเดลการทำงานแบบ start up การฝึกงานแบบมืออาชีพด้วยมืออาชีพ ผ่านการเรียนรู้จากการทำงานจริงกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาได้สะสมประสบการณ์ต่างๆด้วยตนเอง เชิญบริษัท หรือตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่มีอายุประมาณ 30-35 ปีที่ประสบความสำเร็จด้านการเกษตรมาเล่าประสบการณ์ และถ่ายทอดแนวทางการทำธุรกิจเพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษา

“เราต้องการสร้าง “นักบริหารจัดการ” สำหรับพืชสำคัญ เรียนลึกลงไปในเรื่องของการเกษตร ทั้งวิชาชลประทาน, ภูมิอากาศ, สุขภาพพืช, เทคโนโลยีการเกษตร ฯลฯ ควบคู่ไปกับการเรียนเรื่องการจัดการภายในฟาร์มทั้งกระบวนการ อาทิ การจัดซื้อ, การรวบรวมผลผลิต, การแปรรูป, การตลาด, การจัดการบุคคล ฯลฯ เพื่อสร้างนักจัดการเกษตรที่เข้าใจทั้งระบบแบบครบวงจร ด้วยคอนเซ็ปต์ Work-based Learning ของ PIM นักศึกษาคณะนวัตกรรมฯ ก็ไม่ต่างจากคณะอื่นที่ต้องฝึกงานในสนามจริง โดยถือเป็นธรรมเนียมของ PIM ที่นักศึกษาปี 1 ทุกคณะต้องฝึกงานในร้าน 7-11 และเป็น “ห้องเรียน” วัฒนธรรมองค์กรแบบเร่งรัด

ขณะที่นักศึกษาปี 2 จะได้ฝึกงานกับทีมการตลาดของกลุ่มพืชฯ ในการออกไปส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ซึ่งมีตั้งแต่เมล็ดพันธุ์, ปุ๋ย, ผลิตภัณฑ์อารักขาพืช และเครื่องจักรการเกษตร ส่วนปี 3 จะได้ฝึกงานกับบริษัทในเครือซีพีที่เกี่ยวข้องกับวิชาเรียน ตลอดจนฝึกงานในเครือฯ

ขณะที่เทอมแรกของปี 4 จะเป็นการเรียนเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตร ผ่านกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นของเครือซีพี โดยผู้บริหารของซีพีจะมาเฉลยแนวทางที่บริษัทได้ดำเนินการไปในแต่ละเคส ส่วน 9 เดือนที่เหลือ นักศึกษาจะได้ลงไปอยู่ในกิจการที่ต้องการทำการศึกษา เพื่อเขียนบทวิเคราะห์การลงทุน (Project Analysis)

“เหมือนกับการตัดเสื้อ เราไม่ตัดเสื้อโหล แต่เราวัดตัวแล้วก็สร้างรูปแบบขึ้นมา หลักสูตรเหล่านี้เราร่างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ที่ว่า เราอยากได้นักบริหารจัดการเกษตรที่เข้าใจทั้งระบบ เพื่อมาปรับทิศทางของการเกษตรเมืองไทยให้เป็นการเกษตรสมัยใหม่ และเปลี่ยนเกษตรกรไทยให้เป็น Smart Farmer”

อ.มนตรี เชื่อว่า บัณฑิตคณะนี้จะมีความสามารถในการทำงานได้ทั้งในหน่วยงานเกษตรของรัฐและเอกชน หรือเป็นเจ้าของธุรกิจเกษตรเองในอนาคตไม่นาน

ที่มา:วารสารบัวบาน พ.ย.2539
จ๋าย เคยู 30 my 30 Alumni