โครงการเกษตรกรรมทันสมัย 3 ประโยชน์ – 4 ประสาน

ตลอด 30 ปีนับตั้งแต่จีนเปิดและปฏิรูปประเทศ ปรากฏชัดเจนว่าภาคเมืองได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเต็มที่ ในขณะที่ภาคชนบทไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจีนจึงต้องเร่งดำเนินการพัฒนาภาคชนบทตามนโยบาย “สามเกษตร” หรือ “ซานหนง”

“สามเกษตร” หมายถึง ปัญหาด้านการเกษตรของประเทศจีน 3 ประการ ได้แก่
1. ปัญหาภาคการเกษตร (การผลิต)
2. ปัญหาภาคชนบท (ฐานการผลิตทางการเกษตร)
และ 3. ปัญหาภาคประชากร (เกษตรกร)

ซึ่งทั้ง 3 ปัญหาล้วนมีความสำคัญ และมีความเกี่ยวโยงไปถึงพัฒนาการของประเทศในองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ด้วยเหตุนี้ ยุทธศาสตร์ใหม่ของจีนในระยะ 10 ปีต่อมาคือ การปฏิรูปภาคเกษตรสู่ความทันสมัย โดยใช้เทคโนโลยีและการจัดการสมัยใหม่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งจะเป็นการยกระดับรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรทั้งหมดในจีนที่มีอยู่จำนวน 700-800 ล้านคน ทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเป็นการวางรากฐานให้จีนกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารของโลก

แนวทางสำคัญของรัฐบาลจีนในการพัฒนาภาคเกษตรคือ การใช้ศักยภาพของภาคเอกชนเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาสู่เป้าหมายที่ต้องการ ด้วยการร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความรู้ มีความชำนาญ มีประสบการณ์ มีเทคโนโลยี และมีตลาด มาพัฒนาภาคเกษตรแบบดั้งเดิมของจีน ให้เป็นหมู่บ้านเกษตรกรรมใหม่ (Xin Nong Cun) ภายใต้เทคโนโลยีและการจัดการทันสมัยที่สุดในโลก

ด้วยนโยบายการดำเนินธุรกิจของเครือซีพีที่ยึดมั่นในหลักปรัชญา “3 ประโยชน์” คือ ประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประโยชน์ต่อประชาชน และ ประโยชน์ต่อองค์กร เมื่อประกอบเข้ากับความรู้ ความชำนาญ รวมถึงประสบการณ์ในการทำธุรกิจเกษตร จึงทำให้เครือซีพีได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลจีน ให้ดำเนินการพัฒนาด้านเกษตรกรรมทันสมัยหลายโครงการ ภายใต้รูปแบบความร่วมมือที่เรียกว่า “4 ประสาน” หรือ “Four in One” ได้แก่ รัฐบาล บริษัทเอกชน สถาบันการเงิน และเกษตรกร ร่วมมือกันพัฒนาเกษตรกรรมทันสมัยในจีน

การพัฒนาที่ดินเกิดใหม่จากตะกอนทับถมบริเวณปากแม่น้ำ
ให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้

เนื่องจากประเทศจีน มีที่ดินเกิดใหม่จากตะกอนทับถมบริเวณปากแม่น้ำอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลจากเหนือจรดใต้ กว่า 14,000 ล้านมู่ [2.40 มู่ (亩) = 1 ไร่] ที่ดินเหล่านี้ยังมีความเค็ม เพาะปลูกไม่ได้ผล แต่จีนต้องการเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ที่สามารถเพาะปลูกได้ โดยมีแผนจะพัฒนาให้ได้เบื้องต้น 300 ล้านมู่ เพื่อให้สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวเลี้ยงประชากรได้ประมาณ 80 ล้านคนต่อปี

รัฐบาลจีน มีนโยบายให้เอกชนเข้าร่วมพัฒนาที่ดินที่เกิดจากตะกอนทับถมในบริเวณปากแม่น้ำดังกล่าว เพื่อทำการเกษตรในพื้นที่ใกล้เมือง เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประชากรในเมือง โดยเน้นการเป็นแหล่งผลิตอาหารคุณภาพ ปลอดภัย และเพียงพอสำหรับการบริโภค พร้อมช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ด้วย

ในส่วนของเครือซีพี เบื้องต้นได้เข้าร่วมกับรัฐบาลจีนพัฒนาอยู่ 4 โครงการ คือ
1) โครงการเกษตรกรรมทันสมัยฉือซี (Cixi) เมืองหนิงโป (Ningbo) มณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang)
2) โครงการเกษตรกรรมทันสมัยหยูเหยา (Yuyao) เมืองหนิงโป (Ningbo) มณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang)
3) โครงการเกษตรกรรมทันสมัยตงอิ๋ง (Dongying) มณฑลซานตง (Shandong)
และ 4) โครงการเกษตรกรรมทันสมัยฉังหนาน (Cangnan) เมืองเหวินโจว (Wenjhou) มณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang) *ยังไม่เคยเข้าเก็บข้อมูล

โครงการเกษตรกรรมทันสมัยฉือซี (Cixi)
เมืองหนิงโป (Ningbo) มณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang)

เขตฉือซี เมืองหนิงโป มณฑลเจ้เจียง

พื้นที่ตะกอนทับถมปากแม่น้ำเฉียนถัง (Qiantang River) ริมอ่าวหางโจว (Hangzhou Bay) ในเขตฉือซี (Cixi) เมือง หนิงโป (Ningbo) มณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang) เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่รัฐบาลเปิดให้เอกชนเข้าร่วมพัฒนา
เขตฉือซี มีพื้นที่โดยรวม 1,154 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่อยู่ริมแม่น้ำเฉียนถัง อยู่ห่างจากตัวเมืองหนิงโปไปทางใต้ 60 กิโลเมตร ห่างจากเมืองหางโจวไปทางตะวันตก 138 กิโลเมตร และห่างจากนครเซี่ยงไฮ้ไปทางเหนือ 148 กิโลเมตรโดยการเดินทางผ่านสะพานข้ามอ่าวหางโจว

ในปี 2550 เครือซีพีได้ลงนามในสัญญากับรัฐบาลจีน เพื่อเข้าพัฒนาพื้นที่ตะกอนทับถมปากแม่น้ำเฉียนถัง ริมอ่าวหางโจว ในเขตฉือซี เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารป้อนให้กับประชากรกว่า 100 ล้านคนรอบนครเซี่ยงไฮ้

พื้นที่ตะกอนทับถมปากแม่น้ำเฉียนถัง ริมอ่าวหางโจว ในเขตฉือซี

โครงการฯ ฉือซี มีพื้นที่รวม 40,000 มู่ แผนงานโครงการเต็มรูปแบบ จะประกอบด้วย นาข้าว พืชผัก ไม้ผล สมุนไพร ฟาร์มไก่รุ่นไข่ และฟาร์มไก่ไข่ขนาด 1 ล้านตัว ซึ่งมีเป้าหมายขยายถึง 3 ล้านตัว โรงคัดและแปรรูปไข่ไก่ โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป โดยนำเทคโนโลยีระดับโลกเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อเป็นตัวอย่างถ่ายทอดสู่เกษตรกรในประเทศจีน
สถาบันวิจัยและพัฒนาอาหารสำเร็จรูป (Research and Development Center) ซึ่งจะเป็นศูนย์เรียนรู้และฝึกอบรมทีม RD ของเครือซีพีทั่วประเทศ โรงงานผลิตอุปกรณ์การเกษตร โรงงานประกอบรถยนต์เพื่อการเกษตร
ที่พักอาศัยในรูปแบบวิลล่า 24 หลัง กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริหารระดับสูงของเครือซีพีทั้ง ไทย จีน และประเทศต่างๆ และ ที่พักอาศัยในรูปแบบอาคารชุดสำหรับพนักงาน

นอกจากนี้ยังมี ศูนย์ฝึกอบรม ที่พักอาศัยที่เปิดขายทั่วไป สถานฟื้นฟูสุขภาพ และสถานที่ท่องเที่ยว (Ecotourism) เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจสำหรับผู้พักอาศัยในโครงการ และผู้คนโดยรอบ

เขตที่พักอาศัย และสถานพักผ่อนหย่อนใจ

โดยระยะแรก เป็นการพัฒนาพื้นที่ 29,000 มู่ ในรูปแบบโครงการเกษตรผสมผสานแบบทันสมัยครบวงจรที่อยู่ใกล้เมือง


พื้นที่โครงการเกษตรทันสมัยฉือซี

ด้านหน้าทางเข้าโครงการ

เนื่องจากบริเวณที่ตั้งของโครงการฉือซี เป็นพื้นที่เกิดจากการทับถมของตะกอนปากแม่น้ำ ทำให้สภาพดินยังคงมีความเค็มจากทะเล จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีช่วยปรับปรุงคุณภาพดินในช่วงแรก และเมื่อปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพดินให้มีคุณสมบัติที่ดีเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกแล้ว การผลิตข้าวและพืชผักในโครงการฉือซีได้มีผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการผลิตข้าวอินทรีย์ มีปริมาณผลผลิตมากถึง 1,100-1,200 กิโลกรัมต่อไร่

พื้นที่เพาะปลูกข้าว


ฟาร์มไก่รุ่นไข่ ฟาร์มไก่ไข่ โรงคัดและแปรรูปไข่ไก่สด

ด้านการเพาะปลูก ได้จัดสรรพื้นที่ไว้เกือบ 1,000 มู่ เพื่อปลูกแตงกวา มะเขือเทศ เมล่อน แตงไทย พริก องุ่น แก้วมังกร และพืชผักอื่น ๆ ในระบบโรงเรือน


พื้นที่เพาะปลูกพืชในโรงเรือน

นอกจากนี้ ยังได้มีการเพาะปลูกในระบบแปลงเปิดสลับกันไปทั้ง ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด บล็อกโคลี่ มะเขือเทศ แตงโม องุ่น ฯลฯ ซึ่งในทุก ๆ ฤดูกาลของการเพาะปลูกนั้น ยังเป็นการปรับปรุงและแก้ไขหน้าดินซึ่งช่วยเพิ่มผลผลิตให้ดีขึ้นด้วย


แปลงเพาะปลูกบล็อกโคลี่

ด้านการปลูกข้าว โครงการฉือซีผลิตข้าวอินทรีย์ โดยปลูกข้าวควบคู่กับการเลี้ยงปลาและปู เพื่อให้ปลาและปูที่เลี้ยงในพื้นที่ปลูกข้าวช่วยจับกินแมลงศัตรูพืช และสามารถการใช้น้ำควบคุมกำจัดวัชพืชในแปลงนาได้ รวมทั้งยังช่วยสร้างปุ๋ยธรรมชาติให้กับต้นข้าวด้วย


แปลงนาข้าวแบบมีคูน้ำล้อมรอบ

ความโดดเด่นโครงการฉือซีอีกประการหนึ่ง คือ การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการทำการเกษตร อาทิ นำระบบ GPS และคอมพิวเตอร์มาใช้ควบคุมการทำงานของเครื่องจักรในนาข้าวโดยไม่ต้องใช้คนขับ ช่วยลดต้นทุน และควบคุมประสิทธิภาพผลผลิต สามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้ว่าพืชแต่ละชนิดเริ่มปลูกเมื่อไหร่ และนำสถิติไปจัดทำ QR Code สามารถ Scan ดูข้อมูลย้อนหลังของผลิตภัณฑ์ได้ตั้งแต่เริ่มต้นผ่าน Smart Phone


และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรที่ดิน โครงการฉือซีได้มีการศึกษาวิจัยการเพาะปลูกสมุนไพรสำหรับผลิตยาจีนในพื้นที่ดินเค็ม อาทิ การทดลองปลูกหญ้าคำฝอย บอระเพ็ด แห่โควเช่า อ้ายเชา ฯลฯ ได้เป็นผลสำเร็จ


สมุนไพรจีน

ภายในพื้นที่โครงการฉือซี ยังมีฟาร์มไก่รุ่นไข่ และฟาร์มไก่ไข่ซึ่งปัจจุบันมีผลผลิตไข่ไก่วันละเกือบ 1 ล้านฟองป้อนเข้าสู่โรงคัดและบรรจุไข่ไก่สด และโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไข่ไก่ ซึ่งฟาร์มไก่ไข่นี้ยังสามารถผลิตปุ๋ยมูลไก่นำไปใช้ในแปลงนาข้าวได้ถึงวันละ 80 ตัน

ฟาร์มไก่รุ่นไข่ และ ฟาร์มไก่ไข่


โรงคัด และ แปรรูปไข่ไก่สด

โครงการฉือซียังมีสถาบันวิจัยและพัฒนาอาหารสำเร็จรูป (RD Center) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีอาหารมาตรฐาน เพิ่มขีดความสามารถการส่งออกของเครือซีพีและธุรกิจอาหารของประเทศจีน และจะเป็นสถาบันร่วมผลิตบัณฑิตและมหาบัณฑิตในสายงานร้านสำหรับอุตสาหกรรมอาหารเพื่อมาบริหารธุรกิจครบวงจรของประเทศจีนอีกด้วย


พื้นที่อีกส่วนหนึ่งของโครงการฉือซี เป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตร และโรงงานประกอบรถยนต์สำหรับอุตสาหกรรมเกษตร เช่น รถขนส่งอาหารสัตว์ รถขนส่งลูกสุกร เป็นต้น

โรงงานประกอบรถยนต์เพื่อการเกษตร

ภายในโครงการฉือซียังมีพื้นที่พักอาศัยสำหรับบุคลากรในเครือซีพี ทั้งในรูปแบบวิลล่า และอาคารชุดพักอาศัย (Condominium) รวมถึงมีพื้นที่พักอาศัยที่เปิดให้บุคคลทั่วไปจับจองเป็นที่พักอาศัยด้วย

โครงการเกษตรกรรมทันสมัยหยูเหยา (Yuyao)
เมืองหนิงโป (Ningbo) มณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang)

เขตหยูเหยา เมืองหนิงโป มณฑลเจ้เจียง

โครงการหยูเหยา พื้นที่รวม 50,000 มู่ รัฐบาลจีนได้ส่งมอบให้เครือซีพีเข้ามาดำเนินการในเดือนมีนาคม 2561 ปัจจุบัน ที่ดินบางส่วนพัฒนาและเริ่มปลูกข้าวรุ่นแรกแล้ว (โซน 3) โดยเป็นการปลูกในระบบนาน้ำขัง ที่ดินส่วนอื่น ๆ อยู่ระหว่างพัฒนา


ภาพรวมโครงการฯ หยูเหยา จะประกอบไปด้วย นาข้าว พืชผัก และไม้ผล

โครงการเกษตรกรรมทันสมัยตงอิ๋ง
เมืองตงอิ๋ง (Dongying) มณฑลซานตง (Shandong)

เมืองตงอิ๋ง มณฑลซานตง

เมืองตงอิ๋ง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของมณฑลซานตง ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งทางภาคตะวันออกของจีน เป็นเมืองที่มีความยิ่งใหญ่และมีศักยภาพเหมาะสมในการพัฒนา ในฐานะเมืองศูนย์กลางของพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำหวงเหอ (แม่น้ำเหลือง หรือ Yellow River) แม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงประเทศจีนตอนบน และที่ตั้งของเมืองยังอยู่ในบริเวณที่แม่น้ำหวงเหอไหลลงสู่ทะเล โดยมีเมืองสำคัญต่าง ๆ รายรอบ
ตอนเหนือของตงอิ๋ง ห่างจากกรุงปักกิ่ง 360 กิโลเมตร และเทียนจิน 230 กิโลเมตร ทางตะวันออกห่างจากชิงเต่า 220 กิโลเมตร และทางตอนใต้ห่างจากจี๋หนานซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลซานตง 180 กิโลเมตร ที่สำคัญตงอิ๋งยังอยู่ในเขตเศรษฐกิจอ่าวโป๋วไห่อีกด้วย

โครงการตงอิ๋ง เป็นโครงการภายใต้รูปแบบความร่วมมือที่เรียกว่า สี่ประสาน หรือ Four-in-One ได้แก่ รัฐบาล บริษัทเอกชน สถาบันการเงิน และ เกษตรกร

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 รัฐบาลเมืองตงอิ๋งและเครือซีพีได้ลงนามในข้อตกลงเชิงกลยุทธ์เพื่อร่วมกันพัฒนาที่ดินงอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติกว่า 80,000 มู่ปากแม่น้ำหวงเหอ ให้เป็นโครงการเกษตรกรรมทันสมัยที่ใหญ่ที่สุดในเขตเศรษฐกิจอ่าวโป๋วไห่

รูปแบบโครงการ เป็นแปลงสาธิตด้านการเกษตรเชิงนิเวศน์ หรือ Modern Agricultural Technical Ecological Park ที่มีความทันสมัยระดับโลก และมีขนาดใหญ่ที่สุดในจีน โดยมีความมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าการพัฒนาภาคเกษตรของตงอิ๋งให้ก้าวสู่ความทันสมัย โครงการนี้ดำเนินงานภายใต้สัญญา 20 ปี ต่ออายุได้ 1 ครั้งนาน 10 ปี

โดยในส่วนของการลงทุนนั้น รัฐบาลตงอิ๋งมีบทบาทสำคัญคือ เป็นผู้ลงทุนด้วยเม็ดเงิน 1,000 ล้านหยวน เพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ถนน ไฟฟ้า และระบบชลประทานทั้งหมดในโครงการ เครือซีพีลงทุน 2,000 ล้านหยวน สำหรับพัฒนาการเกษตร โดยใช้เทคโนโลยีและการจัดการทันสมัย เพื่อทำให้ที่ดินแปลงนี้เป็นศูนย์กลางการเกษตรทันสมัยภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นแปลงสาธิตที่เป็นต้นแบบการเรียนรู้ ที่จะเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรแบบเก่าที่ล้าสมัยและไม่มีประสิทธภาพ ให้เป็นเกษตรทันสมัยที่มีประสิทธิภาพทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ

รัฐบาลตงอิ๋งต้องการให้โครงการนี้ เป็นแรงกระตุ้นที่จะต่อยอดให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมทันสมัยเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 1 ล้านมู่ เพราะเชื่อมั่นว่าภาคเกษตรกรรมจะเป็นรากฐานสำคัญทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของตงอิ๋งต่อไปในอนาคต

ภายในโครงการตงอิ๋ง ประกอบไปด้วย
1) ศูนย์กลางการเพาะปลูกทันสมัย
แปลงสาธิตด้านการเพาะปลูกของโครงการตงอิ๋ง เป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการทำนาข้าวในพื้นที่นี้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านการเพาะปลูกครั้งยิ่งใหญ่ของตงอิ๋ง

แต่ด้วยที่ตั้งของโครงการเป็นที่ดินงอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ที่มีสภาพเป็นดินเค็มเพราะอยู่ใกล้ทะเล ซึ่งตามปกติจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3-5 ปีในการปรับสภาพดินเพื่อให้ปลูกพืชได้ตามปกติ จึงถือเป็นความท้าทายของเครือซีพีในการแก้ปัญหาดินเค็มที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการเพาะปลูก

เครือซีพีได้จัดการแก้ปัญหาความเค็มของดิน โดยใช้วิธีล้อมน้ำ ด้วยการปล่อยน้ำเข้านาแล้วกักน้ำไว้ หลังจากนั้นจะปล่อยน้ำออก โดยทำเช่นนี้หลาย ๆ รอบเพื่อเป็นการล้างความเค็มของดิน ซึ่งได้เริ่มเข้าไปทำการปรับสภาพดินในวิธีนี้ตั้งแต่ปี 2556

ถึงต้นปี 2557 สามารถปลูกข้าวรอบแรกได้ผลผลิตสูงถึง 1,200 กิโลกรัมต่อไร่ สร้างความเชื่อมั่นว่าผลผลิตจะเพิ่มมากขึ้นในปีต่อๆ ไป จึงตั้งเป้าหมายขยายผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 1,500 และ 1,800 กิโลกรัมต่อไร่ จากการปรับสภาพดินให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกควบคู่กับการคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพสูง

โครงการตงอิ๋งใช้พันธุ์ข้าวท้องถิ่นที่นิยมบริโภคในจีนทางตอนเหนือ และใช้เครื่องจักรอุปกรณ์การทำนาที่ทันสมัย เช่น เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ รถดำนา รถเก็บเกี่ยว เป็นต้น

2) ศูนย์กลางการผลิตและแปรรูปปศุสัตว์ทันสมัย
ภายในโครงการตงอิ๋งมีศูนย์กลางการผลิตและแปรรูปปศุสัตว์ที่ทันสมัย ด้วยงบลงทุนไม่น้อยกว่า 200-300 ล้านหยวน เพื่อพัฒนาห่วงโซ่การผลิตสุกรขุน 1 ล้านตัว โดยใช้เทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์จากไทย และการสร้างฟาร์มสุกรที่ภายในห่วงโซ่การผลิตไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการผลิตอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ การใช้ประโยชน์จากการผลิตก๊าซชีวภาพและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โรงชำแหละ การแปรรูป และการขนส่ง

3) ศูนย์การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงด้านการเกษตร
โครงการตงอิ๋ง ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการวิจัยและพัฒนา โดยมุ่งเน้นไปที่การใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มผลผลิต มีการทดสอบ การสาธิต รวมถึงการหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกบนพื้นที่ดินเค็มชายฝั่งทะเล ภายใต้เทคนิคการเพาะปลูกใหม่ ๆ ที่หลากหลาย โดยจะมีการพัฒนาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศ และสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของต่างประเทศ

4) ศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์และต้นกล้า
เพื่อวิจัยและพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย และที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งผลไม้ ผัก ดอกไม้ ฯลฯ ส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูก เพื่อสร้างรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

5) ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงเกษตร
ด้วยเทคนิคการเพาะปลูกที่ก้าวหน้าทันสมัย พร้อมสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรเชิงนิเวศน์ โดยมุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จใหม่ ๆ ของการเกษตร ได้แก่ พันธุ์ใหม่ ผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวที่เข้าเยี่ยมชมโครงการด้วย