ชมรมหัวใจที่เบิกบาน ชมรมพนักงานแรกชาวซีพี 36 ปีที่ทำงานสังคมด้วยหัวใจที่เบิกบานส่งต่อคนซีพีรุ่นใหม่

เนื่องในโอกาส 100 ปีเครือซีพี มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากมาย ทั้งเรื่องราวของการดำเนินธุรกิจ เรื่องของผู้บริหาร พนักงาน รวมทั้งเรื่องราวของชมรมพนักงาน ที่มีส่วนร่วมกันขับเคลื่อนกงล้อประวัติศาสตร์ของซีพีมาจนถึงวันนี้

เมื่อพูดถึงชมรมพนักงาน ต้องถือว่า “ชมรมหัวใจที่เบิกบาน” เป็นชมรมพนักงานเก่าแก่และเป็นชมรมพนักงานแรกที่มีอายุยาวนาน 36 ปี มีบทบาทสำคัญในการเป็นที่รวมของผู้บริหารและพนักงานที่มีจิตใจงดงาม ต้องการทำงานทำกิจกรรม เพื่อเป็นประโยชน์ช่วยเหลือสังคม ช่วยผู้ตกทุกข์ได้ยาก ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมอย่างไม่เคยมีมาก่อน มีการระดมทุนหรือเงินบริจาค เพื่อนำไปแก้หรือบรรเทาปัญหาเหมือนกับที่ปัจจุบันชาวซีพีดำเนินกิจกรรมกัน

วันนี้อดีตประธานชมรมในแต่ละช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็น คุณมาลี เตชะจงจินตนา คุณสุชาติ วิริยอาภา รวมทั้งกรรมการในอดีตและกรรมการปัจจุบันอย่าง คุณพรทิพา มีปิ่น คุณโสภิศสุดา สบายใจ คุณสุปรี เบ้าสิงห์สวย คุณสุนทรี ศรีชนะชัยโชค คุณวิภาวี วิภาตกนก คุณดาเรศ สุทธิรักษ์ คุณวรางค์ศิริ สุทธมงคล นอกจากนี้ยังมี คุณอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของชมรม และ คุณนุรนาถ วิวรรธน์หิรัญ จากชมรมเพื่อนช่วยเพื่อนที่มีหัวใจเดียวกัน ได้กลับมารวมตัวกันเพื่อบอกเล่าย้อนตำนานการทำงานสังคมของชมรมหัวใจที่เบิกบาน ให้ชาวซีพีได้รับรู้ และฝากชาวซีพียุคปัจจุบันช่วยกันรับไม้ต่อในการสืบสานอุดมการณ์การทำงานเพื่อสังคม โดยเฉพาะคนซีพีรุ่นใหม่ที่เป็นคนหนุ่มสาวสนใจการทำงานสังคม ได้มีโอกาสมาร่วมกันผลักดันให้ชมรมหัวใจที่เบิกบานมีชีวิต มีพลังในการทำงานเพื่อสังคมในนามของชาวซีพีอย่างยั่งยืน ด้วยการพูดคุยทางออนไลน์ เพื่อย้อนกลับไปหาที่มาของชมรม บทบาทและการทำงานของพี่ ๆ แต่ละคน รวมทั้งความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ฝากอนุชนคนซีพีรุ่นใหม่

กำเนิดชมรม 2528 แรงบันดาลใจจากสหทัยมูลนิธิและคุณเตือนใจ ดีเทศน์

เริ่มต้นด้วยคำถามว่า ชมรมหัวใจที่เบิกบานเกิดขึ้นเมื่อใด คุณโสพิศสุดา หรือ พี่โสบอกว่าหากนับอายุของชมรมหัวใจที่เบิกบานจากหลักฐานเอกสารที่มี น่าจะเริ่มกำเนิดในปี 2528

คุณวิภาวี หรือ พี่จ๋า ที่เคยทำงานอยู่สำนักประสานกิจการสัมพันธ์ (ปัจจุบัน อยู่ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์) หนึ่งในผู้ก่อการชมรมเล่าว่า ตอนเข้ามาที่ซีพีปี2527 จำได้ว่า คุณรัมภา กำเหนิดรัตน์ หรือ พี่เจี๊ยบ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) เป็นเพื่อนกับคุณหมูซึ่งทำงานอยู่สหทัยมูลินิธิ ตอนนั้นสหทัยมูลนิธิมีกิจกรรมส่งเด็กที่เจ็บป่วยไปทำศัลยกรรมที่โรงพยาบาลเลิศสินกับโรงพยาบาลศิริราช ก็ชวนกันไปทำกิจกรรม ไปเยี่ยมน้องที่โรงพยาบาล เพราะเด็กๆ เหล่านี้พ่อแม่ยากจน ไม่มีเงินที่จะรักษา ไม่มีเงินจะเดินทางมาเยี่ยมลูก เด็กๆ ก็อยู่โรงพยาบาลตามลำพัง ตอนนั้น คุณศิริวรรณ สุริยมงคล ซึ่งช่วงนั้นเป็นเลขาฯ ท่านประธานอาวุโส ก็ชวนกันไปบริจาค ถือว่าสหทัยมูลนิธิและคุณรัมภาช่วยจุดประกายความคิดพวกเรา

ต่อมาคุณอภัยชนม์ก็เสนอความคิดว่า ทำไมไม่ทำกิจกรรมให้เป็นกิจลักษณะ ลองหากิจกรรมและมาทำด้วยตัวเอง มีกิจกรรมที่จะหารายได้เพื่อไปช่วยสังคม และก็เริ่มมาคิดกันว่า แล้วจะใช้ชื่อชมรมอะไรดี ก็บังเอิญว่าคุณอภัยชนม์มีรุ่นพี่อยู่ท่านหนึ่งชื่อ คุณเตือนใจ ดีเทศน์ (อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย ปี 2543-2549) เป็นนักพัฒนาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาชาวเขาอยู่ที่แม่จันในจังหวัดเชียงราย ซึ่งคุณเตือนใจเขียนหนังสือเล่มหนึ่งมีข้อความว่าด้วยการทำงาน ด้วยหัวใจที่เบิกบาน ก็เห็นกันว่าชื่อเก๋ไก๋ดี เลยเห็นพ้องกันตั้งชื่อว่า “ชมรมหัวใจที่เบิกบาน” มีโลโก้เป็นรูปมือประสานเป็นหัวใจ ตั้งแต่ยุคอาคารทวิชเป็นสำนักงานใหญ่ของซีพี และน่าจะเป็นชมรม CSR แรกของพนักงานชมรมเดียวที่เกิดขึ้นมาจนถึงวันนี้

ชมรม CSR แรกของชาวซีพี ศูนย์รวมคนอาสาช่วยสังคม

พี่จ๋าเล่าว่า จากวันนั้นมาชมรมหัวใจที่เบิกบานก็ได้รับความเมตตาจากผู้บริหารเครือซีพีอย่างท่านประเสริฐ พุ่งกุมาร ทุกครั้งที่ชมรมทำกิจกรรมเพื่อหารายได้ เราก็จะขออนุญาตท่านนำโลโก้บัวบานมาใช้ประกอบกับสินค้าที่ชมรมนำมาจำหน่าย ซึ่งสมัยก่อนซีพีเป็นอะไรที่เป็นแบบครอบครัวเล็ก รู้จักคุ้นเคยกัน อยู่ที่อาคารทวิช มีคุณศิริวรรณเป็นประธานชมรมคนแรก ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าผู้จัดการชมรม และเรียนเชิญผู้บริหารเป็นประธานกิตติมศักดิ์ ต่อจากนั้นก็มาเป็น คุณมาลี หรือ พี่หนิว เลขาฯ ท่านประเสริฐ พุ่งกุมาร รับไม้ต่อเป็นผู้จัดการหรือประธานชมรม

พี่หนิว ประธานชมรมคนที่ 2 เล่าว่า ประมาณปี 2537-2538 ซึ่งตอนนั้นซีพีย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ที่ซีพีทาวเวอร์สีลมแล้ว ชมรมก็มีสมาชิกมากขึ้น เก็บค่าสมาชิกคนละ 200 บาท เพื่อนำเงินเหล่านี้มาใช้ดำเนินกิจกรรมของชมรม มีการระดมทุนเพื่อทำกิจกรรม ผลิตสินค้าที่เป็นของที่ระลึก อย่างวันวาเลนไทน์ ปีใหม่ ซึ่งเวลานั้นก็ไม่ได้มีชมรมอะไรแบบนี้ พนักงานมาร่วมกิจกรรมด้วยความเบิกบานใจ เต็มใจ ไม่ว่าชมรมจะขายของ หรือระดมทุน หรือการจัดแรลลี่ใหญ่ครั้งหนึ่ง มีพนักงานสมาชิกมากันเต็ม และไม่ใช่แค่สมาชิก ยังพาครอบครัวมาด้วย มีความสุข สนุกสนานกันมาก

ทำให้เกิดการเชื่อมสัมพันธไมตรี เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนพนักงาน ยังมีการจัดวิ่งการกุศลเมื่อได้เงินจากการระดมทุนก็สามารถทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับสังคมมากขึ้น มีกองทุนหัวใจที่เบิกบานนำไปมอบทุนการศึกษาให้นักเรียนยากจนขาดโอกาสและมีความเสี่ยงในการถูกชักนำไปค้าบริการทางเพศ ที่จังหวัดลำปางรวม 80 ทุน จัดสรรเงินเป็นอาหารกลางวันให้กับโรงเรียนนำร่อง ชมรมหัวใจที่เบิกบานยังได้ร่วมกับชมรมผ้าขาวม้าทีเอจัดค่ายแต้มยิ้มฮื้อละอ่อนที่แจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ให้เด็ก ๆ ภูมิใจในบ้านเกิดของตัวเองและชวนพนักงานซีพีใช้เวลาว่างร่วมกันทำประโยชน์ให้สังคม

“ตอนนั้นการทำกิจกรรมของชมรมมีความต่อเนื่อง มีความผูกพันกัน ได้รับความสนใจจากเพื่อน ๆ ซีพี มีการมาสมัครเป็นสมาชิกมากขึ้น และเวลานั้นการทำกิจกรรมชมรมไม่มีกรอบ เป็นธรรมชาติ ทุกคนไม่ว่าจะเป็นส่วนไหนมีส่วนร่วมกันได้หมด และทุกปีก็จะมีการระดมทุนด้วยการขายสินค้าใหม่ สินค้ามือสอง ไม่เหมือนกับการทำ CSR ปัจจุบันที่ถูกกำหนดกรอบ เป็นชมรมของแต่ละ BU กันไป” พี่หนิวบอกถึงบรรยากาศเวลานั้น

คุณสุชาติ ประธานชมรมในปัจจุบัน ซึ่งรับไม้ต่อมาจากพี่หนิวเล่าว่า ส่วนตัวมีปรัชญาชีวิตที่อยากทำงานและมีโอกาสทำประโยชน์กับสังคม ทำให้มีความสุข มีพลังกลับมาทำงาน ชมรมหัวใจที่เบิกบานตอบโจทย์ส่วนตัว และตอบโจทย์มากขึ้น เพราะสมัยนั้นในซีพียังไม่มีเรื่องของ CSR ทำให้มีอิสระเต็มที่ในการคิดงาน คิดกิจกรรม และอยู่บนความคิดเห็นของเพื่อน ๆ สมาชิก ทำให้มีความสนุกสนาน ทำให้คนรวมกลุ่มกันได้ดี อยู่กันได้ยาวนาน ทำกิจกรรมกันได้ และสมัยนั้นธุรกิจยังไม่มีระบบงานเหมือนสมัยนี้ ที่มีระบบมากมายและมีการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่เร็ว แต่ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายงานกัน แต่จะอย่างไรก็ตาม

“ผมคิดว่าชมรมหัวใจที่เบิกบานควรจะธำรงไว้ ประวัติศาสตร์ไม่สามารถซื้อได้ ถ้าประวัติศาสตร์ชมรมหยุดไปก็น่าเสียดาย คิดว่าการทำประโยชน์เพื่อสังคมด้วยวิธีใดก็ตาม ไม่ควรมีกรอบมากมายในการทำความดี ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ของชมรมหัวใจที่เบิกบานในอดีตที่ผ่านมา และคิดว่าถ้าจะโปรโมทชมรมนี้กลับมาก็เป็นจุดขายที่ดี ซึ่งกรรมการชมรมเคยหารือกันว่า แม้ว่าบริษัทจะมีกรอบการทำงาน CSR มากมาย แต่สำหรับชมรมหัวใจที่เบิกบานก็ยังจะดำเนินกิจกรรมของชมรมด้วยความเป็นอิสระ แต่ก็พร้อมที่จะสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นไปตามนโยบายบริษัท อย่างปลูกป่า ชมรมก็สามารถเข้าร่วมได้

สำหรับผมมีโครงการหนึ่งที่ประทับใจ ตอนที่ชมรมไปสร้างห้องเรียน ห้องน้ำที่แม่ละมาด จังหวัดตาก ไปเหมือนออกค่ายของมหาวิทยาลัย หนทางโหด แต่ก็ขึ้นไปแจกของกัน มีกิจกรรมกับนักเรียน พบว่าห้องน้ำเก่ามาก ก็ไปช่วยกัน และยังสนับสนุนให้น้อง ๆเลี้ยงปลาดุกด้วย หรือกรณีไปช่วยคุณลุงผู้สูงอายุที่ยากจนมาก ไปปรับปรุงบ้านให้ท่านได้มีสภาพที่ดีกว่าเดิม ยังมีอีกหลายกิจกรรมที่ไม่ได้เล่าแต่อยากสะท้อนว่าเป็นเพราะชมรมมีอิสระทางความคิดในการทำกิจกรรมในการทำประโยชน์กับสังคม ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบไหน” คุณสุชาติกล่าว

พี่โส ได้กล่าวเสริมว่า เวลานั้นชมรมจะมีกรรมการประจำแต่ละอาคารสำนักงานของซีพีทั้งซีพีสีลม ซีพีตรอกจันทน์ ซีพีทาวเวอร์ 2 หรือสายงานกลุ่มพืชครบวงจร เพราะฉะนั้นเวลามีงานของชมรมก็จะอาศัยเครือข่ายกรรมการช่วยประสาน กระจายข่าวสาร และระดมพลังกัน มีการจัดกิจกรรมบ้านหลังสุดท้ายให้กับคนที่ป่วยเป็นมะเร็ง พาพนักงานไปทำกิจกรรมกระจายเสียง ติดรูป ทำเครื่องดูดเสมหะ ตั้งตู้ปลา เพื่อให้เป็นบ้านหลังสุดท้ายก่อนที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิต ไปช่วยผู้สูงอายุตามสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ หรือที่นครปฐม หลวงพ่อเปิ่น มีโอกาสเชิญภรรยาท่านประเสริฐไปทำบุญ

มีกิจกรรมเหมารอบภาพยนตร์สุริโยทัย นำบัตรมาจำหน่ายเพื่อนพนักงานและครอบครัวเพื่อระดมรายได้ให้ชมรม กิจกรรมเที่ยวท่องล่องเจ้าพระยา ที่พาพนักงานไปล่องเรือเรียนรู้ธรรมชาติและวัฒนธรรมริมน้ำ กิจกรรมพาไปดูงานแสดงนวัตกรรมการเพาะปลูกของเจียไต๋ที่ฟาร์มชนมเจริญจังหวัดกาญจนบุรี และกิจกรรมอื่น ๆ ที่หลากหลาย

จัดกิจกรรมอ่านหนังสือให้คนไม้เท้าขาวของมูลนิธิคนตาบอด มอบเตียงสระผมที่ศูนย์มะเร็ง มอบหนังสือและนิตยสารให้ผู้ป่วยมะเร็งอ่าน หรืออย่างปี 2550 ที่คุณวัลลภเจียรวนนท์ เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ทูลเกล้าฯ ถวายเงินเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศล ท่านก็ได้นำพวกเราชาวชมรมไปร่วมทูลเกล้าฯ ถวายด้วย

นอกจากนี้แล้ว คุณนุรนาถ หรือ พี่ติ๊ก ซึ่งก็มีบทบาทในการดำเนินงานของชมรม และยังเป็นแกนนำก่อตั้งชมรมเพื่อนช่วยเพื่อนของซีพีเอฟกล่าวเสริมว่า ทางพี่ติ๊กเองก็ไปช่วยต่อยอดการช่วยเหลือผู้คน แต่จะมุ่งสู่ด้านเพื่อนพนักงานเป็นหลัก โดยตลอด 7 ปีของชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน ได้ช่วยพนักงานไปแล้ว 54 คน เป็นเงินกว่า 2 ล้านบาท โดยนำแนวทางของท่านประธานอาวุโสที่บอกว่าก่อนช่วยเหลือสังคมภายนอกควรช่วยเพื่อนข้างในก่อน เพราะพนักงานที่เจ็บป่วยเป็นมะเร็งจะมีค่าใช้จ่ายในการรักษามาก ก็มีการช่วยรายละ 5 หมื่นบาท นอกจากนี้ก็ช่วยเพื่อนที่ประสบอัคคีภัย ที่เป็นคนไข้ติดเตียงชมรมนี้ก็เหมือนชมรมพี่น้องกับชมรมหัวใจที่เบิกบานที่ทำงานคล้ายกันแต่เน้นพนักงาน

คุณอภัยชนม์ ผู้อยู่เบื้องหลังการดำเนินงานของชมรมกล่าวเสริมว่า ชมรมหัวใจที่เบิกบานมาจากฐานที่ดีของคนซีพี ที่มีจิตสาธารณะต้องการทำงานเพื่อสังคมกันมายาวนานและยังได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารหลายท่านอย่าง คุณวัลลภ เจียรวนนท์ คุณประเสริฐ พุ่งกุมาร ดร.อาชว์ เตาลานนท์ คุณพงษ์พันธ์ (เทิดพันธุ์) วัฒนะลิขิต ที่ให้ความกรุณามาตลอดอย่างดีมาก ผู้บริหารซีพีทุกคนมีจิตใจดี เมื่อได้ทราบกิจกรรมที่ชมรมทำกัน ท่านยินดีช่วยสนับสนุน รวมทั้ง คุณมิน เธียรวร คุณเอี่ยม งามดำรงค์ คุณชิงชัยโลหะวัฒนะกุล คุณธีรยุทธ พิทยาอิสรกุล คุณธนากร เสรีบุรี ฯลฯ ที่มีจิตเมตตา และสิ่งที่ชมรมทำก็ส่งผลดี อย่างกรณีของซีพีเวียดนาม คุณสุขสันต์ เจียมใจสว่างฤกษ์ คุณชิโนรส เบญจชวกุล ก็ได้นำแนวคิดดี ๆ จากเมืองไทยไปดำเนินการที่เวียดนามจนได้ผลดี ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเลือด เพื่อนช่วยเพื่อน ช่วยพนักงานที่เป็นมะเร็ง เกิดผลดี คนเวียดนามก็รักซีพี ทำอย่างไรที่โมเดลดี ๆ ในการช่วยสังคม รวมทั้งชมรมแบบนี้จะขยายผลในประเทศต่าง ๆ ที่ซีพีไปดำเนินการ

ชมรมหัวใจที่เบิกบานกับการเดินหน้าต่อ?

ชมรมหัวใจที่เบิกบานจะมีบทบาทส่งต่อภารกิจการทำงานสังคมกับคนซีพีรุ่นใหม่ ๆอย่างไร คุณอภัยชนม์ให้ข้อคิดว่า เรามีพนักงานที่มีจิตใจดี อยากร่วมแก้ปัญหาสังคมและต้องการมีความเป็นอิสระในการทำงานเพื่อสังคม ขณะที่คุณสุชาติเห็นว่ามีเหตุจำเป็นที่ชมรมหัวใจที่เบิกบานควรจะดำรงตนต่อไปด้วยเหตุผล 3 อย่างคือ 1.โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ยุคสมัย เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เรื่องของจิตอาสายังคงมีอยู่อย่างแน่นอน เหมือนที่คุณหมอประเวศ วะสี บอก พลังของจิตอาสาสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ แต่จิตอาสาจะมีบุคลิกอย่างหนึ่งคือการทำความดีแบบเงียบ ๆ ทำกันเองเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ประการที่ 2 เทคโนโลยีเปลี่ยนไปมากก็มีความคิดว่า ถ้าเรามีVolunteer App ชมรมหัวใจที่เบิกบานก็สามารถทำได้โดยเป็นคนกลาง ที่ไหนต้องการอาสาสมัคร เราไปได้ข้อมูลมาก็มาประกาศแจ้งให้เพื่อน ๆ ให้น้อง ๆ ที่ชอบงานสังคมไปทำกิจกรรม ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป เช่น สัปดาห์นี้จะไปอ่านหนังสือให้คนตาบอด หรือไปเป็นครูพิเศษสอนหนังสือ ก็จะเป็นเหมือนApp อันหนึ่งที่เป็นฮับ ประการที่ 3 ชมรมที่เป็นงานอาสาต้องการความเป็นอิสระ เป็นธรรมชาติในการทำกิจกรรม ไม่มีกรอบปิดกั้นว่าจะต้องทำอะไร ก็ฝากเป็นแนวความคิดถึงบทบาทของชมรมหัวใจที่เบิกบานในปัจจุบันที่จะส่งต่อ

ขณะที่คุณมาลีหรือพี่หนิวเห็นว่า จะสื่อสารอย่างไรและใช้ช่องทางอะไรที่จะสื่อสารกิจกรรมของชมรมให้พนักงานรุ่นใหม่ทราบ ส่วนคุณวิภาวีเสนอแนะว่า เรื่องราวของชมรมเมื่อเป็นที่รับรู้ของคนรุ่นใหม่ ทำอย่างไรที่คนรุ่นใหม่จะเข้ามามีส่วนร่วม จะผสมผสานไอเดียของคนยุคก่อนที่ทำกันมากับน้อง ๆคนรุ่นใหม่ มีการมานั่งคุยกันคนรุ่นใหม่อยากทำอะไรกับชมรม

ส่วนคุณนุรนาถกล่าวว่า ณ วันนี้องค์กรซีพีมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มีการผสมผสานกันระหว่างคนรุ่นเก่า เก่ามาก กลาง ๆ ใหม่ และใหม่มาก คนรุ่นใหม่จะมองสังคมอีกแบบหนึ่ง แต่อาจไม่เน้น Human Touch เวลานี้ทุกคนสื่อสารกันผ่านอิเล็กทรอนิกส์อาจขาดความละเอียดอ่อนทางด้านจิตใจ ทำอย่างไรที่จะมีวิธีหล่อหลอมคนแต่ละรุ่นเข้ามา

ชมรมหัวใจที่เบิกบาน ชมรม CSR แรกของชาวซีพีเดินทางมายาวนาน มีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคม ผ่านผู้บริหารและพนักงานที่มีจิตอาสา จะก้าวเดินต่อไปหรือไม่อย่างไรคงต้องฝากเพื่อนพ้องน้องพี่ชาวซีพี ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชมรม ช่วยกันส่งต่อเรื่องราวของชมรม และทำอย่างไรที่จะเกิดการพูดคุยกัน การเข้ามามีบทบาทของชาวซีพีคนหนุ่มคนสาวรุ่นใหม่จะมารับไม้ต่อให้ชมรมหัวใจที่เบิกบานยังมีลมหายใจ มีชีวิตที่ยืนยาวและพร้อมที่จะเป็นแกนนำของชาวซีพีในการทำงานเพื่อสังคมในยุค 4.0 กัน