ดร.สารสิน วีระผล จากอาจารย์สู่นักการทูตก่อนสู่รั้วซีพี

ดร.สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นอีกหนึ่งผู้บริหารเครือฯที่มีความรู้ ประสบการณ์ที่คนซีพีรุ่นหลังได้เรียนรู้ ศึกษา

ท่านจบการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียนอัสสัมชัญ แล้วเดินทางไปต่อระดับมัธยมที่ฮ่องกงระยะหนึ่งก่อนจะศึกษาในระดับไฮสคูลที่แคลิฟอร์เนีย จบปริญญาตรี ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ American University

ปี 2511 ท่านเข้ารับราชการเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่นานก็ได้รับทุนจาก Harvard University ไปเรียนระดับปริญญาโทและเอก เรียนวิชาHistory and East Asia language และทำวิทยานิพนธ์เรื่องความสัมพันธ์การค้าระหว่างไทย-จีน โดยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารของ Harvard ด้วย

เมื่อกลับมาเป็นอาจารย์อีกครั้งหนึ่งก็กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเพียงคนเดียว ที่รู้เรื่องจีนดีที่สุด พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีต่างประเทศขณะนั้น รู้จักภูมิหลังท่านดีที่สุดจึงชวนมารับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อปี 2519 เปลี่ยนจากอาจารย์มหาวิทยาลัยมาเป็นนักการทูต

งานแรกของท่านไปประจำ ณ สถานทูตไทยที่กรุงปักกิ่ง ที่เพิ่งเปิดใหม่ ในระยะต่อมาก็ทำหน้าที่เป็นเลขานุการรัฐมนตรีต่างประเทศด้วยซึ่งต่อมาก็ทำงานให้พล.อ.อ สิทธิเศวตศิลาค่อน ข้างมาก ในช่วงยาวพอสมควร ขณะเดียวกันก็ถือเป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศที่ก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากคนหนึ่ง ต่อมาดูแลงานนโยบายและวางแผน (2526) ไปประจำสถานทูตที่โตเกียว ก่อนจะมาเป็นรองอธิบดีกรมการเมือง และก้าวขึ้นเป็นเอกอัครราชทูต โดยใช้อายุราชการเพียง 12 ปี

ประสบการณ์ของอาจารย์กว้างขึ้น มาเป็นอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ (2535)

อาจารย์เล่าว่าได้มีโอกาสพบและพูดคุยกับท่านประธานอาวุโส ในที่สุดท่านมาอยู่ซีพีช่วงปลายปี 2539 ด้วยเห็นว่าเป็นความท้าทายและโอกาสที่จะนำประสบการณ์การทำงานการทูตในช่วงความสัมพันธ์ของซีพีกับจีนแผ่นดินใหญ่ในการร่วมปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน

ดร.สารสินได้เล่าให้คณะทำงานContent 100ปีซีพีเกี่ยวกับประวัติในช่วงวัยเด็กที่พักอาศัยในทรงวาดยุครอยต่อของทศวรรษ 2490 ถึงต้นทศวรรษ 2500 ซึ่งสังคมไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน

ดร. สารสิน เล่าว่า ย้ายไปอยู่อาศัยในทรงวาดตอนอายุ 8 ขวบเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2497 และพักอาศัยในถนนเส้นนี้ประมาณ 5 ปีก่อนเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศ

บิดาของดร.สารสิน ทำกิจการค้าแป้งมันสำปะหลัง จุดที่ตั้งของบริษัทอยู่ช่วงกลางถนนทรงวาด ด้านบนของตัวตึกเป็นที่พักอาศัย บริษัทอยู่ใกล้กับห้องเย็น-ห้องแช่แข็ง ฝั่งตรงข้ามบ้านมีแลนด์มาร์กที่คนจีนเรียกว่า “จ่อซัวติกล่ง” หรือล้งของเจ้าสัวติก เป็นโกดังสำหรับเก็บสินค้า เป็นที่ที่ขายฝากสินค้าเกษตร หรือเป็นที่ที่กระจายสินค้าเกษตรอาทิ กระเทียม ข้าวโพด ถั่ว ซึ่งมาจากท่าเรือ หรือจะเรียกว่าเป็น “ที่จอดเรือ” ในแม่น้ำเจ้าพระยาก็ว่าได้ เนื่องจากสภาพริมฝั่งแม่น้ำของถนนทรงวาดล้วนเป็นที่จอดเรือ มีเรือมาจอดเรียงรายตลอดเส้นทาง ท่าเรือที่อยู่ใกล้บ้านคือท่าราชวงศ์

ดร.สารสิน อธิบายเพิ่มว่า สมัยเป็นเด็กยังเห็นเรือขนสินค้าเกษตรที่มาจากทางเหนือในทรงวาดค่อนข้างเยอะ เรือที่มาจากต่างจังหวัดจอดอยู่ตลอดแนวริมแม่น้ำ ส่วนเรือขนาดใหญ่ที่บรรทุกของจำนวนมากจะจอดกลางแม่น้ำ เมื่อถึงยุคเรือลดน้อยลง เวลาต่อมาก็กลายเป็นรถบรรทุกสินค้าเกษตร

ดร.สารสิน เล่าอีกว่า บิดาเป็นผู้ริเริ่มส่งออกแป้งมันสำปะหลัง กิจการแป้งมันสำปะหลังผลิตที่ต่างจังหวัด จากนั้นก็นำไปบางปะกง ไปเกาะสีชัง ส่วนที่ทรงวาดเป็นที่ตั้งของบริษัท บิดาส่งออกจนนิวยอร์กไทมส์ (New York Times) สื่อดังในสหรัฐฯ หยิบยกมาพูดถึง

ตลาดยุคต่อจากแป้งก็พัฒนาเป็นมันเส้น ไปดังในยุโรป เพราะยุโรปนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ภายหลังมีอินโดนีเซียมาปลูกมันเส้นส่งไปยุโรปด้วย ดร.สารสิน อธิบายว่า บิดาทำการค้าจนตั้งเป็นสมาคมขึ้นมาได้ บิดาเป็นนายกสมาคม สมัยนั้นรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องการค้า เห็นได้จากจอมพล ประภาส จารุเสถียร สมัยที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาเปิดสมาคม ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อค้าชาวจีนร่วมมือกับรัฐบาลแบบเปิดเผยโดยรัฐส่งเสริมให้พ่อค้าเชื้อชาติจีนทำธุรกิจส่งออกเพราะมองว่าจะพัฒนาประเทศ

ดร.สารสิน เล่าว่า ทรงวาดในช่วงที่มีโอกาสไปพักอาศัย บริเวณนั้นเจริญเต็มที่ ในแง่การขนส่งทางบก มีรถบรรทุกขนาดกลางมาจอดตามริมถนนผสมกับ “รถหรู” ของเถ้าแก่ และพบธุรกิจตั้งอยู่ในบริเวณนั้นมากพอสมควร

ดร.สารสินบอกว่าช่วงตอนใช้ชีวิตที่ทรงวาดไม่คุ้นเคยกับเจียไต๋ แต่จะเป็นพรมลิขิตหรือไม่ แต่อาจารย์ก็ได้มาเป็นผู้บริหารซีพีได้มีบทบาทในการเสนอแนะการวางบทบาทของซีพีให้สามารถอยู่และลงทุนในประเทศต่างๆของภูมิภาคบนโลกอย่างสมดุล แม้ประเทศที่มีระบบการเมืองที่แตกต่างกัน

ตัวอย่างผลงานที่ดร.สารสินเขียนไว้ ปรัชญาจับฉ่าย รู้จักธุรกิจ รู้จักชีวิต /จิ้มก้องและกำไร การค้าไทย-จีน

ที่มา:ศิลปวัฒนธรรม/นิตยสารผู้จัดการ/คณะทำงานContent 100ปีซีพี