คุณชิงชัย โลหะวัฒนะกุล เปิดใจ 50 ปี ร่วมสร้างปวศ.วางรากฐานการผลิตอาหารสัตว์และบุกเบิก พัฒนาธุรกิจสัตว์น้ำซีพี

ดร.ชิงชัย โลหะวัฒนกุล หรือ ดร.หลิน เล่าให้คณะทำงาน Content 100ปี ซีพีถึงแรงบันดาลใจในการทำงานที่ซีพีว่า “ผมมีโอกาสมาทำงานให้ซีพีเริ่มต้นด้วยตอนนั้นผมจบจากมหาวิทยาลัยในไต้หวัน ผมเรียนเคมีเกษตร Agri Cultural Chemistry ผมโชคดีที่ตอนนั้นท่านประธานธนินท์ไปไต้หวันก็มีเพื่อนคนหนึ่งของผมรู้จักกันและรู้จักท่านประธาน ท่านประธานธนินท์ถามว่าจะมาทำงานเมืองไทยไหม ตอนนั้นเพิ่งจบใหม่ๆยังไม่มีงานทำก็ตามท่านมามาทำงานผมถามท่านว่าทำอะไร ท่านบอกทำอาหารสัตว์ ผมก็เข้ามาที่โรงงานที่ตรอกจันทน์ “

“ผมจบด้านเคมีเกษตร เข้าใจว่าอุตสาหกรรมทำอาหารสัตว์ต้องมีห้องแล็ปที่มีมาตรฐาน ผมก็ไปทำห้องแล็ปที่มหาชัย ทำให้เรามีความสามารถในการวิเคราะห์อาหารสัตว์ เวลานั้น วัตถุดิบอาหารสัตว มีโปรตีนเท่าไหร่ยังไม่มีความรู้เลย ทั่วโลกก็ไม่มีตัวเลขให้อ่านให้ดู พูดง่ายๆว่าทุกอย่างเริ่มต้นจากเรา มีห้องแล็บและหาวัตถุดิบทุกชนิดเข้ามาแล้วทำสูตรออกมา เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีมาตรฐานอาหารสัตว์ ทั่วโลกยังไม่มี”

“ หลังจากมีห้องแล็ปที่ตรอกจันทน์ทำให้เรามีความสามารถในการทำสูตรอาหารให้ไก่เช่นมีโปรตีน 10% 20% และเราถามลูกค้าโดยตรงคือไก่และหมูที่เราเลี้ยงไว้ ตอนนั้นที่ผมมาซีพีมีการเลี้ยงไก่แล้ว ครั้งแรกประธานพาผมดูฟาร์มอ้อมน้อยมีทั้งฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ ประธานเอาไก่ที่ดีที่สุดในโลกมาเลี้ยงแล้วที่อ้อมน้อย”ดร.หลินเล่าความหลัง

และถือได้ว่าดร.หลินและซีพีเป็นผู้ริเริ่มในเรื่องของคุณค่าอาหารในวัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นตำราของเราขึ้นมาเองในโลกยังไม่มีใครทำ ทำให้ซีพีประสบความสำเร็จในเรื่องของการผลิตอาหารสัตว์

“ท่านประธานเป็นผู้นำที่ดีเวลาสร้างฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ท่านต้องไปดู มีครั้งหนึ่งเราผลิตอาหารหมูอ่อน ลูกหมูเพิ่งหย่านมและต้องการอาหาร ผู้เลี้ยงต้องการอาหารสำหรับลูกหมูควบคู่กับการกินนมได้”

ดร.หลินเล่าอีกว่าตอนที่ผมเพิ่งมาโรงงานที่ตรอกจันทน์ก็มีซื้อวัตถุดิบมาขายด้วย ใส่กระสอบขาย ขายผู้เลี้ยงสัตว์ทั่วไป ผู้เลี้ยงก็มีสูตรของเค้า ต้องการทดลองผสมอาหารไปที่โรงงานตรอกจันทน์ เป็นเครื่องเล็กๆ 2เครื่อง

“ผมดูแลอาหารสัตว์บกประมาณเกือบ30ปี หลังจากนั้นพยายามพัฒนาสัตว์น้ำ ส่วนสัตว์บกตอนนั้นมีคุณพงษ์เทพ เจียรวนนท์ คุณภัทนีย์ เล็กศรีสมพงษ์ 2 ท่านเรียนกลับมาจากออสเตรเลียก็ให้ 2 ท่านดูแลอาหารสัตว์บก” ดร.หลินเล่าถึงช่วงหนึ่งของการส่งไม้ต่อการดูกิจการอาหาร

“ช่วงปี 2530 เวลานั้นการเลี้ยงกุ้งทั่วโลกคนที่มีความสามารถมากที่สุดคือญี่ปุ่น ส่วนไต้หวันเลี้ยงกุ้งกุลาดำรายใหญ่ แต่ไต้หวันก็หนาวเกินไปสำหรับเลี้ยงกุ้ง ขณะที่เมืองไทยอากาศดี เหมาะสำหรับเลี้ยงกุ้ง เพียงแต่เมืองไทยขาดวิชาการ ตอนหลังแม้ไต้หวันจะเลี้ยงกุ้งมากสุดในโลกถึง1แสนตัน แต่ก็เสียหายจนหยุดไป ตอนนั้นไต้หวันมีต้นทุนการเลี้ยงที่สูงกว่าเมืองไทยหลายสิบเท่า แต่เมืองไทยที่ดินถูก อีกอย่างไต้หวันยังมีหน้าหนาว 3เดือน ผมก็พาพานักวิชาการไต้หวันมา 20คน “ดร.หลินเล่าถึงสถานการณ์ย้อนกลับไปถึงการเลี้ยงกุ้งในเมืองไทย

ในการเริ่มต้นเลี้ยงกุ้งของซีพี ดร.หลินเล่าว่าก็มีการร่วมทุนกับมิตซูบิชิ ญี่ปุ่นร่วมมือกันส่งคนที่รับผิดชอบเลี้ยงกุ้งมาด้วย แต่สุดท้ายเราก็ทำไม่สำเร็จ ไม่เข้าใจกัน ช่วงที่เชิญนักวิชาการจากไต้หวันชวนมาพัฒนาอาหาร ระบบการเลี้ยง เราก็มีทีมงานโดยเฉพาะคุณหมอสุจินต์เป็นผู้นำ

ดร.หลินเล่าอีกว่าจุดเปลี่ยนที่สำคัญช่วงแรกเราเลี้ยงกุ้งกุลาดำ เลี้ยงง่าย ไซท์ใหญ่ แต่ที่สุดก็มีปัญญหา เปลี่ยนจากการเลี้ยงกุ้งกุลาดำมาเป็นกุ้งขาวแวนนาไม ตอนนั้นเราก็มีการฟอร์มทีมภายใต้คุณหมอสุจินต์ มีคุณรอบบิน เริ่มทำพันธุ์กันซึ่งเราทำมา10กว่าปีแล้ว เวลานี้กุ้งขาวพันธุ์ของเราโตเร็วที่สุดในโลก ยังสามารถต้านทานโรคได้ ที่ทำมา10กว่าปีนี้ คุณรอบบินรู้จักไปหาผู้เชี่ยวชาญที่เก่งที่สุดในโลกทางด้านพัฒนาพันธุ์ กุ้งกุ้งที่เราพัฒนามีความต้านทานโรคกุ้ง

“กุ้งกุลาดำทำไม่สำเร็จเพราะกุ้งกุลาดำถึงวันนี้ยังไม่ปลอดโรค100% แต่กุ้งขาวสะอาดไม่มีเชื้อโรคอยู่ในตัว กุ้งขาวจึงปลอดภัย100%”ดร.หลินอธิบาย

ส่วนกุ้งก้ามกรามดร.หลินเล่าว่ายังมีการพัฒนากันอยู่ ควรจะศึกษาค้นคว้าต่อไปเพราะกุ้งก้ามกรามหัวจะอร่อสย แต่กุ้งก้ามกรามยังต้องใช้เวลาพัฒนา

ส่วนปลา ปลานิลที่พัฒนาจนกลายเป็นปลาทับทิม ปลาทับทิมมีสีสัน สวย และตลาดยอมรับ ซีพีก็ทำปลาทับทิมขึ้นมาแต่คิดว่าเรื่องปลา นอกจากปลาทับทิมแล้ว ยังมีเอาปลาจากต่างประเทศเข้ามา เป็นปลาหยก ปลาหยกเอาไปนึ่งจะอร่อย เลี้ยงถึงเกือบครึ่งกิโล เป็นปลาน้ำกร่อย

ตลอดเวลาที่ผ่านมาของทีมสัตว์น้ำมีการพัฒนาคน อย่างคุณหมอสุจินต์ คุณภัทนีย์ และคนอื่นๆอย่างไร เวลาเราทำเรื่องสัตว์น้ำมา เราก็มีโอกาสรู้จักคนเยอะในโลก ในเรื่องสัตว์น้ำแล้วมีโอกาสสัมผัสกับผู้เชี่ยวชาญมีการแนะนำกัน มีการคุยกัน

ถามว่ามีการสอนคนอย่างไรทำให้เพื่อนร่วมงานสัตว์น้ำแข็งแรงและมีความรู้กันทุกคนดร.หลินอย่างถ่อมตัวว่าผมโชคดีมีทีมงานที่ดีโดยเฉพาะหมอสุจินต์สร้างทีมที่เข้มแข็ง

ในอนาคต เราก็สนใจในลาตินอเมริกา เพราะหลายประเทศมีอากาศคล้ายเมืองไทย ก็มีโอกาสขยายไป เพราะเรามีทีมงานคอยติดตาม

ถามว่าแล้วอะไรทำให้ดร.หลินอยู่กับซีพียาวนาน ดร.หลินบอกตอบตรงๆที่อยู่ซีพีมายาวนานเพราะเจ้านายเลี้ยงดี แล้วจะไปไหน

ดร.หลิน หรือ ดร.ชิงชัย โลหะวัฒนะกุล จบป.ตรี สาขาวิชาเคมีอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยไต้หวัน ป.โท สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอริโซน่า สหรัฐอเมริกาเข้ามาช่วยวางรากฐานเรื่องการผลิตอาหารสัตว์ให้ซีพีจนกิจการอาหารสัตว์ขึ้นมาเป็นเบอร์1 รวมทั้งดร.หลินยัง เป็นผู้ที่วางพื้นฐานด้านวิชาการการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดําแบบพัฒนาโดยการศึกษาค้นคว้าวิจัย จนได้เทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้งที่เหมาะสมกับการเลี้ยงในประเทศไทยได้พัฒนาสูตรอาหารสําเร็จรูปสําหรับเลี้ยงกุ้งกุลาดําที่มีคุณภาพ โดยเน้นการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นและอุปกรณ์ที่ทันสมัย

เป็นผู้ก่อตั้งศูนย์ค้นคว้าวิจัยการเลี้ยงกุ้ง ที่ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร และสถานีทดลองต่าง ๆ ในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ รวม 14 แห่ง จนประสบผลสําเร็จในการเลี้ยงกุ้งควบคู่ไปกับ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการเลี้ยงกุ้งแบบไม่ใช้ยาและสารเคมี ซึ่งเป็นการลดต้นทุนของเกษตรกร และยังเกิดผลดีต่อการส่งออกกุ้งไปยังตลาดโลกด้วย

ดร.หลินยังเป็นผู้รับผิดชอบโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริในอันที่จะเลี้ยงกุ้งและมุ่งรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นผู้พัฒนาธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ําแบบครบวงจรของเครือซีพีคือมีการพัฒนาด้านการตลาด โดยเน้นการส่งออกกุ้งทะเล ทั้งกุ้งสดแช่แข็งและการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่สะดวกต่อการรับประทานจึงช่วยให้เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งกุลาดําเป็นอาชีพหลัก มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ดร.หลินได้นําผลความก้าวหน้าทางวิชาการที่ค้นคว้าได้ ออกเผยแพร่เป็นสาธารณประโยชน์ แก่เกษตรกรโดยทั่วไป เป็นผู้วางหลักสูตรและทําหนังสือคู่มือการฝึกอบรมการเลี้ยงกุ้งกุลาดําแบบพัฒนา ก่อตั้งศูนย์พัฒนา และศูนย์บริการวิชาการการเลี้ยงกุ้งกุลาดําแบบพัฒนา ของเครือฯ เป็นบรรณาธิการวารสารเผยแพร่ทางวิชาการแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งโดยไม่คิดมูลค่า และยังได้ส่งบทความเผยแพร่ในวารสารต่างประเทศด้วย

นอกจากการดําเนินธุรกิจตามแนวนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แล้วยังให้ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ อาทิ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี และสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ เพื่อสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ําร่วมกัน ระหว่างนักวิชาการของเครือฯ คณาจารย์ และนักศึกษา

ดร.หลินได้รับรางวัลความสำเร็จสูงสุดหรือ GAA Lifetime Achievement Award ด้านการผลิตอาหารทะเลจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนจากองค์การพันธมิตรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโลก(GAA)เมื่อปี 2555 ซึ่งเป็นรางวัลที่น้อยคนนักจะได้รับ

ดร.หลินจึงเป็นเป็นปูชนียบุคคลสำคัญของอาหารสัตว์และกิจการสัตว์น้ำของซีพีมาตลอด 50 ปี