พัฒนาการงานด้านความรับผิดชอบสังคมซีพี 100ปีสู่ความยั่งยืน

ในปัจจุบันและอนาคตของโลกการทำธุรกิจ องค์กรธุรกิจไม่สามารถจะมองแต่เรื่องการเติบโตหรือการมุ่งแสวงหากำไรอย่างเดียว แต่จะต้องมีเรื่องของงานความรับผิดชอบสังคมเป็นภารกิจที่ต้องให้ความสำคัญควบคู่กันไป เพราะนับวันโลกและสังคมต้องเผชิญปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนมากมาย
ถามว่าเครือซีพีของพวกเราให้ความสำคัญกับเรื่องงานความรับผิดชอบสังคมมานานมากน้อยเพียงใด หากเมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ซีพี ซีพีให้ความสำคัญเรื่องนี้มาตั้งแต่เริ่มแรกของการก่อตั้งกิจการเมื่อ 100ปีก่อน

เริ่มต้นรับผิดชอบสังคมด้วยคุณภาพ คุณธรรม ความซื่อสัตย์
หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 100ปีที่แล้ว เรื่องของงานด้านความรับผิดชอบสังคมคืออะไร ยุคสมัยนั้นคงเป็นเรื่องไกลตัวผู้คน แต่สำหรับ 2ผู้ก่อตั้งท่านเจี่ยเอ็กชอและเจี่ยเซียวฮุยที่เปิดร้านค้าเมล็ดพันธุ์เล็กๆชื่อว่า”เจียไต๋จึง”บนถนนทรงวาด ให้ความสำคัญกับเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมมาตั้งแต่เริ่มต้นการค้าในเมืองไทยด้วยการยึดเป็นเป้าหมาย เป็นนโยบาย เป็นวิสัยทัศน์ที่อยู่ในกระบวนการการทำธุรกิจหรือเป็นIn ProcessในโลกของCSR ปัจจุบัน โดยให้ความสำคัญในเรื่องของการผลิตและการค้าเมล็ดพันธุ์ผักที่เน้นเรื่องของคุณภาพ คุณธรรม ความซื่อสัตย์

สิ่งที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงความรับผิดชอบสังคมด้วยการริเริ่มระบุวันหมดอายุของเมล็ดพันธุ์ หากลูกค้าซื้อไปแล้ว สินค้าหมดอายุก็สามารถนำมาเปลี่ยนใหม่ได้ นับเป็นความคิดที่ล้ำหน้าและสะท้อนถึงความยึดมั่นในการทำธุรกิจที่ซื่อสัตย์
นอกจากนี้ท่านเจี่ยเอ็กชอมีความคิดว่า”งานปลูกผักเป็นงานที่หนัก ชาวสวนต้องรดน้ำทุกวัน หากเมล็ดพันธุ์ที่ขาย ปลูกลงไปไม่ขึ้น ชาวสวนก็เสียหาย ขาดทุน ต้องไม่ทำให้เกษตรกรขาดทุน” ท่านจึงให้ความสำคัญกับคุณภาพของเมล็ดพันธุ์มากที่สุด รับเมล็ดพันธุ์ที่ดีมาขายจากหลายๆแหล่ง ทำให้คู่ค้า ลูกค้า เกษตรกรเกิดความเชื่อมั่น ให้การยอมรับ ขณะที่ท่านเจี่ยเซียวฮุย ผู้น้องมีความโดดเด่นในเรื่องของคนที่มีวิสัยทัศน์ มีแผน แนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยอดเยี่ยมรวมถึงการเป็นผู้ทำการค้า ในเรื่องของมีน้ำใจ เอาใจใส่ลูกค้า คู่ค้า ที่อ่อนน้อม สุภาพ ซื่อสัตย์ ที่เป็นกุญแจสำคัญในการทำการค้า มีเรื่องเล่าขานถึงความเป็นนักขาย นักการตลาด โดยเฉพาะการออกไปเยี่ยมลูกค้าไม่ว่าหนทางจะลำบากเพียงใด และยังเป็นผู้มีจิตใจเมตตากรุณาคอยช่วยเหลือผู้คน

ผู้ก่อตั้งทั้ง 2จึงเป็นต้นแบบในการวางรากฐานการดำเนินกิจการที่สำคัญบนปรัชญา ค่านิยมที่ยึดมั่นในการทำการค้าที่ซื่อตรง ซื่อสัตย์ สุจริต ยึดมั่นในคุณภาพและคุณธรรม ให้ความสำคัญกับความรู้ เทคโนโลยีในการผลิตสินค้าที่มีประโยชน์และมีคุณภาพกับบรรดาเกษตรกร คู่ค้า ลูกค้าทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ
ร้านCPสืบสานคุณภาพ คุณธรรม ความซื่อตัย์
กับแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว
ต่อมาในยุคของการก่อตั้งร้านเจริญโภคภัณฑ์ ยุคประธานกิตติมศักดิ์ ประธานจรัญ เจียรวนนท์เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลไทยได้มีนโยบายส่งเสริมให้คนไทยหันมาเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภค ทำให้กระแสความนิยมเลี้ยงสัตว์เพิ่มมากขึ้นเพื่อไว้เป็นอาหารในบ้านและค้าขาย แต่เวลานั้นยังขาดแคลนอาหารสัตว์ดีๆที่จะให้สัตว์บริโภค การเลี้ยงสัตว์ก็ปล่อยให้สัตว์หากินเองตามธรรมชาติหรือเป็นแค่เศษอาหารหรือพืชผัก ด้วยความคิดในการนำเอาผลผลิตทางการเกษตรที่เหลือทิ้งมาสร้างมูลค่าด้วยการทำเป็นวัตถุดิบสำหรับทำอาหารสัตว์ ถือเป็นความรับผิดชอบสังคมในแนวเศรษฐกิจสีเขียว

ยุคเครือซีพีใช้วิชาการ ความรู้ เทคโนโลยี การจัดการ รับผิดชอบสังคม
จาก ร้านเจริญโภคภัณฑ์ที่ก่อตั้งในปี2496 กิจการได้เติบโต ก้าวหน้า จนปี 2501จากร้านเจริญโภคภัณฑ์มาเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จนมาเป็นบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด โดยเฉพาะช่วงเวลา 2506-2530 ภายใต้การนำของท่านประธานอาวุโสธนินท์ เจียรวนนท์ กิจการของซีพีก้าวสู่การเป็นองค์กรธุรกิจสมัยใหม่ที่มีผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมสร้างกิจการ โดยประธานธนินท์ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศเพื่อศึกษา นำแนวคิด แนวทางการบริหารองค์กรสมัยใหม่รวมทั้งการแสวงหาแนวคิด รูปแบบการทำธุรกิจที่จะมาสนับสนุนกิจการอาหารสัตว์ ตลอดจนเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์ โดยให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพ ประสิทธิผล การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน โรงงานในการดูแลผลกระทบจากกระบวนการผลิตต่างๆ เช่นการบำบัดน้ำเสีย การใช้พลังงานอย่างประหยัด การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เช่นการนำมูลสุกรมาทำเป็นไบโอแก๊ส การดูแลชุมชนถือเป็นความรับผิดชอบสังคมในกระบวนการทางธุรกิจหรือในภาษางานCSR เป็นไปในลักษณะแบบCSR in Process

ผลของการพัฒนาธุรกิจครบวงจรดังกล่าวได้สร้างคุณูปการต่อภาคการเกษตรเนื่องจากมีการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชไร่ที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์กับเกษตรกรโดยการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร การสร้างโอกาสให้เกิดอาชีพใหม่ๆในฟาร์มเลี้ยงสัตว์และโรงงาน เกิดอาชีพการเลี้ยงสัตว์ ที่สำคัญทำให้เนื้อสัตว์ที่เคยมีราคาสูงกลายเป็นอาหารราคาถูกคนทุกระดับรายได้สามารถหาซื้อรับประทานได้และไม่เพียงคนในประเทศ ยังกลายเป็นสินค้าเพื่อส่งออกไปสู่ผู้บริโภคทั่วโลกและเมื่อกิจการมีรายได้เพิ่มขึ้นซีพีนำรายได้จากการดำเนินกิจการกลับคืนสู่สังคม ในรูปของการช่วยเหลือสังคมผ่านการบริจาคการกุศล การช่วยเหลือสังคม ,มีการจัดตั้งหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า การก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท(ปัจจุบันเป็นมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท) เพื่อทำโครงการช่วยเหลือสังคม การมอบทุนการศึกษา เป็นช่วงเวลาที่ซีพีมีความรับผิดชอบสังคมทั้งIn Process รวมทั้งการทำงานความรับผิดชอบสังคมที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจ ที่เรียกว่า After Process
ปี2560สู่ยุคมากกว่าCSR ก้าวสู่CSV+ความยั่งยืน
ตลอดช่วงเวลาที่ประธานธนินท์รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ตั้งแต่ปี2512 เกือบ 2ทศวรรษเครือซีพีได้เดินทางสู่ความสำเร็จอย่างรวดเร็วในการดำเนินธุรกิจด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร กลายเป็นผู้นำในการผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก เป็นผู้นำในธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารพร้อมที่จะเป็น”ครัวของโลก”
ในปี2522ได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่อีกครั้ง เป็นการเปิดโอกาสของนักวิชาการ นักบริหารมืออาชีพ เข้ามา เช่น ดร.อาชว์ เตาลานนท์ ดร.วัลลภ วิมลวณิชย์ ดร.วีรวัฒน์ กาญจนดุล คุณเฉลียว สุวรรณกิตติ ต่อมาในปี2532มีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่อีกครั้งของเครือซีพีเพื่อรองรับการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มธุรกิจอื่นๆ พร้อมเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้จากทั่วโลกเข้ามาร่วมงานทั้งในประเทศไทยและประเทศที่ไปลงทุน

และเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2560 เครือซีพีได้ประกาศการจัดโครงสร้างเครือเจริญโภคภัณฑ์ และโครงสร้างการบริหาร ใหม่อีกครั้ง เพื่อให้คนรุ่นใหม่มารับช่วงต่ออย่างเต็มตัวเพื่อรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต โดยประธานธนินท์ขึ้นเป็นประธานอาวุโส และคุณสุภกิต เจียรวนนท์ ขึ้นเป็นประธานกรรมการ และคุณศุภชัย เจียรวนนท์ขึ้นเป็นซีอีโอ เครือซีพี
นับจากปี2560 เป็นต้นมา ซีพีอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กระแสของความรับผิดชอบสังคม การทำงานด้านCSRกลายเป็นกระแสสังคมที่เรียกร้องให้องค์กรธุรกิจมีความรับผิดชอบสังคมมากขึ้น มีการนำเสนอแนวคิดงานCSRที่ไปสู่การเป็นCSV แนวความคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก วิกฤตการณ์ภาวะโลกร้อน ผู้บริหารรุ่นใหม่ต่างตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาของสังคม สิ่งแวดล้อม จึงได้ปรับกระบวนทัศน์ของการทำงานด้านความรับผิดชอบสังคมที่มากขึ้นและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา การเปลี่ยนแปลงคุณค่าของโครงการ งานด้านสังคม การกำหนดเป้าหมาย แนวทางการทำงานสังคมที่เป็นทั้งระดับโลก ระดับประเทศ มีการวางยุทธศาสตร์ของการทำงานด้านสังคมมากขึ้น มีการริเริ่มการแก้Pain Pointใหม่ๆ การยกระดับงานสังคมจากCSR สู่CSV สู่การเป็นSocial Enterprise Social Buness ภายใต้ค่านิยม 3ประโยชน์

ตลอดเส้นทางการเติบโตของเครือซีพี นอกจากความมุ่งมั่นในการสร้างคุณค่าและประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติในด้านอาหารมนุษย์และอาหารสมอง ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม เครือซีพียังตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเครือซีพีได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ รู้จักตอบแทนคุณแผ่นดิน โดยพนักงานทุกคนยึดมั่นในหลักค่านิยม 3ประโยชน์ คือประโยชน์ต่อประเทศที่ไปลงทุน ประโยชน์ต่อประชาชนและประโยชน์ต่อองค์กร บนระบบบริหารจัดการที่เรียกว่า C.P Excellence การมีธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อสังคม เคร่งครัดต่อกฎ ระเบียบข้อบังคับ มาตรฐานของทุกประเทศที่เข้าไปลงทุนและสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
เครือซีพีได้ประกาศยุทธศาสตร์และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยืนของเครือซีพีสู่ปี2573โดยครอบคลุมถึงประเด็นที่สำคัญด้านความยั่งยืน 15ประเด็นและ15เป้าหมายหลัก คือ1.ด้านกำกับดูแลกิจการ 2.ด้านสิทธิมนุษยชนและแรงงาน3. ด้านการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำ 4.ด้านการพัฒนาผู้นำและทรัพยากรบุคคล 5.ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และปกป้องข้อมูล 6.ด้านสุขภาพและสุขภาวะที่ดี 7.ด้านคุณค่าและการสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่สังคม 8.ด้านความมั่นคงทางอาหารและการเข้าถึงโภชนาการ 9.ด้านการบริหารจัดการนวัตกรรม 10.ด้านความผูกพันกับผู้มีส่วนได้เสีย11. ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ 12.ด้านระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน 13.ด้านการดูแลทรัพยากรน้ำ 14.ด้านการปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ 15.ด้านการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ

100ปีข้างหน้าร่วมสร้างสรรค์เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
100ปีที่ผ่านมา เครือซีพีได้ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านเหตุการณ์ วิกฤตการณ์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆของโลก แต่เครือซีพีก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะมองโลกอย่างสร้างสรรค์และเชื่อว่าในวิกฤตย่อมมีโอกาส ในความมืดย่อมมีความสว่าง เช่นเดียวกับอีก 100ปีข้างหน้า โลกของเรายังมีเรื่องที่ท้าทายและการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเตรียมพร้อม รับมือไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกที่มีความต้องการอาหารและพลังงานที่ยั่งยืน โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน การเกิดการระบาดของโรคอุบัติใหม่ ฯลฯอย่างไรก็ตามเครือซีพีเชื่อว่าความรู้และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะเป็นทางออกและเป็นโอกาสในการสร้างสรรค์ธุรกิจแห่งอนาคตที่จะช่วยแก้ปัญหาและสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืนของมนุษยชาติ
เครือซีพีมองโลกในอีก 100ปียังเต็มไปด้วยโอกาสไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านBiotechnology มาใช้ในด้านการเกษตร รวมไปถึงการพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ลดความอดอยาก และเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพของผู้คน ทั้งนี้เครือซีพีไม่หยุดนิ่งในการศึกษาหาความรู้ในการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงปากท้องมนุษย์ เครือซีพีได้ทุ่มทุนในเรื่องอาหารของมนุษย์มายาวนาน เพราะเชื่อมั่นว่าอาหารมนุษย์จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ หรือเทคโนโลยีด้านการสื่อสารโทรคมนาคม เครือซีพีมองว่าในศตวรรษที่21จะเป็นศตวรรษแห่งอิเล็คทรอนิกส์ เป็นศตวรรษที่มนุษย์จะได้เรียนรู้และสัมผัสกับเทคโนโลยีใหม่ๆที่ได้รับการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง 100ปีข้างหน้าเครือซีพียังคงก้าวเดิน ร่วมสร้างสรรค์เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป