สำนักประสานกิจการสัมพันธ์จัดงานเสวนา CP-CSR TALK ครั้งที่3 ชวนคนซีพีร่วมถอดบทเรียนคนซีพีกับโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน ภาค 2

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 ด้านประสานกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้จัดกิจกรรม CP-CSR Talk ครั้งที่ 3 ขึ้น โดยได้ต่อยอดมาจาก CP-CSR TALK ครั้งที่ 2 ในหัวข้อการเสวนาเรื่อง “ถอดบทเรียนคนซีพีกับโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน ภาค 2 : ถาม-ตอบ ทำโครงการเพื่อสังคมอย่างไรให้ว้าวๆ” โดยคัดเลือกโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน จำนวน 6 โครงการ จาก 59 โครงการที่ส่งเข้าประกวด เพื่อแบ่งปัญกลยุทธ์การดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จ เกิดประโยชน์แก่สังคมในวงกว้างให้แก่เพื่อนพนักงาน พร้อมด้วยกรรมการกลั่นกรองโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างกัน

สำหรับผลตอบรับงานเสวนาในครั้งนี้ มีผู้ร่วมพบปะพูดคุยกันกว่า 100 คน จากหน่วยงานด้านความรับผิดชอบสังคม ด้าน HR โครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน รวมทั้งจิตอาสาจากหลากหลายกลุ่มธุรกิจ อาทิ ทีมมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ทีมHR CPALL ประกอบด้วย Makro Lotus PIM กลุ่มทรู ซีพีแลนด์ รวมทั้งซี.พี.เวียดนาม ฯลฯ

ภายในงานเสวนา ได้รับเกียรติจาก คุณอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสด้านประสานกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมเป็นประธานและกล่าวต้อนรับผู้ร่วมเสวนา

“การจัดงานเสวนา CP-CSR TALK เราแนวคิดการจัดงานทุกวันพุธที่ 2 ของทุกเดือน ผ่านระบบออนไลน์ ในการสร้างเวทีร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยน เรียนรู้การทำงานซึ่งกันและกัน ซึ่งวันนี้มีโครงการเพื่อสังคมน่าสนใจหลายเรื่อง”

โดยเริ่มต้นด้วย จิตวิญญาณของ ESR เพื่อนช่วยเพื่อน เราไม่ละทิ้งกันและกันและโครงการโภชนาการพอเพียง จากซีพีเวียดนาม โดย คุณชิโนรส เบญจชวกุล กล่าวว่า แนวคิดของซีพีเวียดนามมองว่าการทำโครงการสังคมที่ดีควรริเริ่มจากภายในองค์กรก่อน นั่นคือ “พนักงาน” เป็นอันดับแรก จึงได้มีโครงการต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือพนักงาน อาทิ โครงการเยี่ยมบ้านพนักงาน โครงการสร้างบ้านให้พนักงาน เป็นต้น เพื่อปลูกฝังพนักงานให้รู้สึกมีความสุข ได้รับการดูแล ปลูกจิตสำนึกของการให้ การแบ่งปันที่เป็นหัวใจของการทำงานเพื่อสังคมอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ยังได้จัดตั้ง กองทุนซีพีเวียดนามเพื่อการกุศล เป็นตัวขับเคลื่อนในทุกโครงการ เพื่อให้พนักงานที่แยกไปแต่ละกลุ่มธุรกิจ ได้จับมือเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วม โดยมุ่งให้พนักงานรู้จักการแบ่งปัน และเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เกิดความรัก ความสามัคคีเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน

ดังนั้น “พนักงานทุกคน” จึงเป็นกลไกหลักให้เกิดคนดี พร้อมแบ่งปัน เพื่อสามารถทำงานและถ่ายทอดสู่สังคมได้อย่างยั่งยืน “ก่อนจะออกไปช่วยเหลือสังคมภายนอก เราต้องดูแลพนักงานให้ดีก่อนเป็นอันดับแรก”

สำหรับโครงการโภชนาการพอเพียง ได้รับแรงบันดาลใจจากประเทศไทยในแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจากโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ภายใต้มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท โดยเล็งเห็นปัญหาของเด็กยากไร้ จึงได้จัดทำฟาร์มทั่วประเทศ 18 ฟาร์ม โดยสามารถช่วยเหลือเด็กเวียดนามกว่า 5,000 ราย อีกทั้งแต่ละศูนย์สามารถดำเนินงานและดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง เป็นโครงการโมเดลตัวอย่างให้กับคนอื่นได้เข้ามาดูงาน นอกจากนี้โครงการดังกล่าวจะนำไปต่อยอดสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและเวียดนามอีกด้วย


ลำดับต่อมา อ.ดร.ณภัทร กำธรสิริวิมล พร้อมด้วย ผศ.ดร.กรวิทย์ ไชยสุ จากสถาบันการ จัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ได้นำเสนอ การพัฒนาธุรกิจการจำหน่ายปลากัดภายในประเทศเพื่อความยั่งยืนของชุมชน กรณีศึกษาวิสาหกิจชุมชนส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลากัดบ้านอ้อมพยศ โดยเปิดเผยว่า “ก่อนเริ่มทำโครงการใดๆ จะต้องไปเรียนรู้ เจาะลึกถึงรากของปัญหาอย่างถ่องแท้” ซึ่งชาวบ้านขาดรายได้ส่งออกปลากัดในช่วงวิกฤตโควิด-19 จึงคิดกลยุทธ์สร้างแบรนด์ที่มากกว่าการเลี้ยงปลากัด มีความแปลกใหม่ สร้างความแตกต่าง โดยให้เด็กๆเป็นคนช่วยกันเลี้ยงปลากัด และยังใช้สีของปลากัดเชื่อมโยงเข้ากับศาสตร์เสริมมงคล และทำการขายออนไลน์จนพลิกวิกฤตเป็นโอกาส สามารถสร้างรายได้กลับคืนมาและยังต่อยอดการตั้งโรงเรียนปลากัดแห่งแรกของโลกเพื่อสามารถสร้างอาชีพกับผู้ที่สนใจในธุรกิจปลากัดสวยงาม

ทางด้าน คุณสมภพ แสนจุ้ย จากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ได้นำเสนอโครงการธนาคารชุมชนเพื่อคนออทิสติก โดยเปิดเผยว่า ทีมงานได้เล็งเห็นถึงปัญหาของบุคคลออทิสติกในมิติต่างๆเพื่อให้สังคมยอมรับกลุ่มบุคคลออทิสติก สามารถดำเนินชีวิตร่วมสังคมได้และหาแนวทางสร้างความมั่นคงทางการเงินให้บุคคลออทิสติกไม่ต้องพึ่งพารายได้ ที่ได้จากภาครัฐเท่านั้น

นอกจากนี้ 1 คนในครอบครัวของเด็กออทิสติกจะต้องออกจากงานเพื่อมาดูแลน้อง ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ ส่งผลให้เป็นหนี้นอกระบบ จึงเกิดเป็นแนวคิดให้หันมาพึ่งตนเอง โดยการสร้างแหล่งเงินทุนที่เป็นเจ้าของร่วมกัน โดยผลสำเร็จของโครงการเกิดขึ้นจาก สโลแกน “ฝาก 20 กู้ 3000 ไม่เสียดอกเบี้ย” ทำให้มีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก จนโครงการประสบความสำเร็จ

ต่อมา คุณปัญญวัฒน์ เอกอิษวัตวิกุล บริษัท สยามแม็คโคร จํากัด (มหาชน) ได้นำเสนอโครงการพัฒนาเกษตรกรชาวเขาเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ได้เล่าถึงปัญหาความเชื่อการใช้สารเคมีในการทำเกษตรของชาวเขา ทำให้ผลผลิตงอกงาม จำหน่ายได้ราคาดี จึงนำพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยมี 4 เป้าหมาย คือ ต้องการสร้างรายได้ให้ชุมชน เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร สินค้ามีความปลอดภัยให้ชุมชน คนเมืองได้รับอาหารที่ปลอดภัยและสุขภาพดี และสร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกร องค์กรอิสระ และเอกชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในภาพรวม

ทางด้าน คุณเสกสรรค์ เชี่ยวธัญญกิจ จากซีพีเอฟ ได้นำเสนอโครงการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงวัยชุมชนเวียงยอง ด้วยกายอุปกรณ์ โดยเปิดเผยถึงแนวคิดว่า ในชุมชนเวียงยองเริ่มมีจำนวนผู้สูงวัยมากขึ้น โดยมีสโลแกนของโครงการว่า “กายพร้อม อุปกรณ์พร้อม สู่การให้โอกาสที่เท่าเทียม” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของประธานบริหาร โดยกลยุทธ์ในการดำเนินงานคือ เข้าไปคุยกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยในชุมชน ในเรื่องสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยติดเตียงต่างๆ โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่สามารถทำให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้ จึงได้สานต่อโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน และเน้นการใช้วัสดุเหลือใช้ในการทำอุปกรณ์ พร้อมนักกายภาพบำบัดทดลองใช้ก่อนนำไปใช้กับผู้ป่วย ซึ่งถือว่าโครงการมีส่วนรองรับปัญหาสังคมในอนาคต

และโครงการสุดท้ายโดย คุณกวินวัชร์ ฟองคำ จากซีพีเอฟ ได้นำเสนอโครงการCPR เพื่อชุมชน กล่าวว่า จากสถิติแห่งชาติ คนไทยมีภาวะหัวใจหยุดเต้นที่สามารถเสียชีวิต 6 คน ต่อชั่วโมง โครงการนี้จึงเป็นโอกาสที่ทำให้รอดชีวิตได้ โดยเพิ่มทักษะให้คนในเครือข่ายชุมชนด้วยวิธีการช่วยเหลือชีวิตขั้นพื้นฐาน โดยประสานไปแต่ละกลุ่มธุรกิจ เพื่อนำโครงการนี้ไปต่อยอดใช้ในฟาร์ม รวมถึงพนักงาน เมื่อพนักงานผ่านการอบรม จึงเข้าไปช่วยเหลือฟาร์มโดยรอบ รวมถึงหน่วยงานราชการใกล้เคียง เป็นลำดับถัดไป พร้อมทั้งสร้างวิทยากรในพื้นที่ต่างๆให้สามารถให้ความรู้ในเรื่อง CPR ได้

นอกจากนี้การเสวนาดังกล่าว ยังมีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน ได้เสนอความคิดเห็นต่อโครงการ โดย ดร.วรวุฒิ ไชยศร กล่าวว่า “โครงการซีพียั่งยืน ทั้ง 6 โครงการที่ได้รับฟังทำได้ดีมาก สิ่งที่ทำจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในการสร้างผลลัพธ์ต่อชุมชน สังคม และองค์กร ฝากคนซีพีที่สนใจทำโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืนหรือกำลังดำเนินการอยู่ควรคำนึงถึง ได้แก่ การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง วิเคราะห์ว่าโครงการที่ทำเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร สามารถวัดความสำเร็จได้อย่างไร ผลกระทบมีการเพิ่มขึ้นอย่างไรต่อชุมชน สังคม องค์กร ดังนั้น โครงการซีพียั่งยืน ควรจะเน้นเรื่องของ Social Impact”

ทางด้าน คุณศาลิดา เสรเมธากุล ให้ความคิดเห็นว่า ในทุกโครงการแสดงให้เห็นถึงหัวใจของเราชาวซีพี ซึ่งหากจะทำโครงการถัดไป จะทำโครงการอย่างไรให้พนักงาน คนในชุมชน มีความปลอดภัย (Next Normal) ซึ่งอยากให้ทุกโครงการมี 3S ได้แก่ Stay คือ รักษาสิ่งที่มีคุณค่า ตอบโจทย์ทุกมิติ สามารถร่วมกันเป็นภาคีเครือข่าย และสามารถขยายผลไปในวงกว้างได้ Start คือ วางแผนเริ่มดำเนินงานโครงการตามแนวทางซีพีเพื่อความยั่งยืน และ Stop คือ หยุดดำเนินงานที่ไม่เกิดประโยชน์ ไม่ตอบโจทย์สังคมในสถานการณ์ต่างๆ

ต่อมา อาจารย์พิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์ กล่าวว่า ขอชื่นชมทุกโครงการ และเห็นโอกาสของความร่วมมือของทุกกลุ่มธุรกิจที่ทำงานด้านความยั่งยืน เราต้องมีคลังความรู้ การจัดการ หรือเทคนิคต่างๆในการทำโครงการ รวมถึงการแชร์บุคลากร อีกมิติหนึ่ง ต้องการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนในการทำธุรกิจระดับชุมชน พัฒนาเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise และต้องพึ่งพาตนเองได้จริง จากความสมัครใจ โดยมีเครือซีพีช่วยเป็นผู้ตั้งต้น ซึ่งการจัดการงานด้านความยั่งยืนอย่างเป็นระบบพนักงานทุกคนก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งได้

ทางด้าน คุณคริสต์มาส ศุภทนต์ ให้ความเป็นว่า ในตอนนี้อยู่ในช่วงครบรอบ 100 ปี และวิกฤติโควิด-19 ซึ่งทำให้ไม่สามารถลงพื้นที่ในการดำเนินโครงการได้ จึงต้องใช้การนำเสนอเป็นรูปแบบสั้นๆเพื่อให้พนักงาน ประชาชนได้ทราบ และให้คนรุ่นใหม่ได้ซึมซับการทำประโยชน์เพื่อสังคม

######