25 พรรษา กับการทำหน้าที่สะพานบุญ โครงการ “เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ”

ถือเป็นอีกโครงการด้านความรับผิดชอบสังคมของซีพีออลล์ กิจการหลักด้านค้าปลีกของเครือซีพีที่ดำเนินการมาต่อเนื่องยาวนาน นับแต่การจัดกิจกรรมครั้งแรกในปี 2539 เผลอแป๊ปเดียว 25ปีแล้ว ถ้าเป็นพระก็ถือว่าบวชมายาวนาน 25 พรรษาโดยได้นิมนต์พระสงฆ์หรือพส.มาบรรยายธรรม เริ่มจากให้พนักงานบริษัทฯ เข้าร่วมฟังและขยายผลสู่ประชาชน เพื่อให้น้อมนำหลักธรรมไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากสีลมเป็นถนนสายธุรกิจที่สำคัญของประเทศ แต่ไม่มีวัดไทย โครงการเรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ จึงเป็นเสมือนพื้นที่ให้คนในชุมชนได้มาร่วมกันทำบุญ เพื่อสร้างพื้นที่ธรรมะสำหรับคนเมือง สร้างความสงบ เสริมสติ และก่อให้เกิดปัญญาแก่ทุกคน

ตลอดระยะเวลากว่า 25 ปี ที่ผ่านมา มีการจัดงาน ‘เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ’ เป็นประจำทุกเที่ยงวันศุกร์ต่อเนื่อง มากกว่า 1,200 ครั้ง โดย ในหนึ่งสัปดาห์ของเดือนจะเชิญฆราวาสที่มีชื่อเสียงมาแบ่งปันประสบการณ์ธรรมะ แต่ละครั้งจะมีญาติโยม ผู้ร่วมฟังบรรยาย 300 – 500 แต่ละเดือนจะนิมนต์พระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดมาเทศนาธรรม รวมกว่า 959 รูป และฆราวาสที่มีชื่อเสียงมาแบ่งปันประสบการณ์ธรรมะกว่า 159 คน

คงจะมีคำถามจากคนซีพีรุ่นใหม่ว่าโครงการนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมถึงยืนยาวมาถึงวันนี้ และคนที่น่าจะเป็นผู้ให้คำตอบดีที่สุดก็คือคุณปรางรัตน์ เกียรติทรงศักดิ์ เลขานุการณคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ผู้บริหารเครือซีพี ผู้มีส่วนสำคัญในการปั้นโครงการนี้

ย้อนกลับไปกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของซีพี คุณปรางรัตน์เคยให้สัมภาษณ์ วารสารบัวบาน สื่อสารภายในเครือซีพีฉบับเดือนมีนาคม 2540 ว่าเกิดจากความสนใจส่วนตัวของคุณปรางรัตน์ เธอบอกว่าเมื่อก่อนนับถือพุทธในรูปของพุทธพราหมณ์ สนใจในพิธีกรรม ฤกษ์งามยามดี กราบไหว้อะไรที ต้องบวงสรวงอ้อนวอน จนกระทั่งมาได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งของท่านพุทธทาสชื่อว่า”เช่นนั้นเอง” ทำให้รู้สึกว่าที่ผ่านมาไม่ใช่แนวทางดับทุกข์ เริ่มดวงตาเห็นธรรม คุณปรางรัตน์จึงเริ่มศึกษาธรรมะมากขึ้นจากการอ่าน โดยเฉพาะหนังสือธรรมะของท่านพุทธทาสพร้อมกับเริ่มฝึกนั่งสมาธิ แต่ก็ไม่ได้จริงจัง เป็นการนั่งสมาธิเพื่อทำให้จิตใจสงบ มีความศรัทธาในท่านพุทธทาสมาก ทำให้คุณปรางรัตน์เกิดความรู้สึกว่าอยากจะช่วยเผยแพร่คำสอนของพุทธองค์ เมื่อเธออยู่ในโลกของธรรม มีความสุขใจ เบิกบานและทุกข์น้อยลง จึงอยากให้ความรู้สึกนี้ไปถึงคนอื่น

คุณปรางรัตน์จึงหาทางพูดคุยกับทางบริษัทฯว่าเธอจะจัดตั้งชมรมพุทธศาสนาหรือชมรมพุทธศาสน์ 7-11 ทุกคนในเวลานั้นเห็นด้วยแต่ยังไม่ช่วยทำ ความคิดที่จะทำหยุดไปชั่วขณะ ต่อมาจึงได้พูดคุยกับผู้บริหารอีกครั้งและเริ่มจัดตั้งกลุ่มย่อยเล็กๆ โดยใช้อาคารสีบุญเรืองที่ถูกทุบทิ้งไปแล้วในปัจจุบัน และยังได้พูดคุยกับเจ้าคุณพิพิธธรรมสุนทรที่วัดสุทัศน์ เล่ารายละเอียดโครงการให้เจ้าคุณฯฟัง ท่านเจ้าคุณฯเห็นด้วยและยังตั้งชื่อให้ว่า”เรายกวัดมาไว้ซี.พี.” เจ้าคุณฯบอกว่าไม่อยากให้จัดเฉพาะพนักงาน7-11เท่านั้น คนซีพีหรือคนภายนอก คนที่อยู่รอบๆบนถนนสีลม คุณปรางรัตน์เห็นด้วยกับเจ้าคุณฯและเห็นว่าบนถนนสีลมไม่มีวัดพุทธอยู่เลย น่าจะเป็นเรื่องดีที่ธรรมะจะเข้าถึงคนทำงาน บนถนนสีลม และก็เป็นจริงเพราะมีคนจากตึกธนิยะ แบงก์กรุงเทพ แบงก์ฮ่องกง ฯลฯมาฟังกันแน่นทุกวันศุกร์

คุณปรางรัตน์เล่าว่าไม่เพียงการศึกษาธรรมะของเธอที่ทำให้มีความสุข การจัดกิจกรรมเรายกวัดมาไว้ซีพี ยังเกิดประโยชน์กับคนอื่น คุณปรางรัตน์บอกว่าจากเสียงตอบรับของชาวซีพี ชาวสีลมทำให้โครงการเห็นแนวทางที่จะเดินทางนำธรรมมาสู่ผู้คนอีกทางหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องไปเข้าวัด อยู่ที่ไหนก็เข้าถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพุทธองค์ และมีการขยายวงการเชิญไม่เพียงพระสงฆ์องคเจ้า รวมไปถึงฆราวาส ผู้หลัก ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตด้วยธรรมะ

คุณปรางรัตน์บอกว่าโครงการนี้เดินทางมาได้เพราะซีพีเปิดโอกาสให้ทำ ซีพีเป็นองค์กรที่วิเศษที่สุด เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่ผู้บริหารแต่ละท่านล้วนเป็นคนดีน่านับถือ เป็นที่ๆคนดีๆมาอยู่รวมกัน ผู้บริหารอย่างท่านประธานหรือผู้บริหารคนอื่นๆส่วนใหญ่สนใจธรรมะและได้อาศัยบารมีขององค์กรซีพีเวลาไปนิมนต์พระมาบรรยาย พระที่เชิญมาให้การสนับสนุน เป็นอย่างดี

โครงการเรายกวัดมาไว้ที่ซี.พี.ต่อมาภายหลังมีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น “เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ” ในฐานะที่เซเว่นฯหรือซีพีออลล์เป็นสปอนเซอร์สำคัญและถือเป็นโครงการCSRหนึ่งของซีพีออลล์ต้องการให้ผู้คนเข้าถึง เข้าใจและนำหลักการ หลักธรรมไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตเพื่อความสุขของทุกคนและทำให้สังคมไทยมีความสุขสงบ

CP Story ก็ขอให้โครงการเรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯเดินทางนำทางธรรมสู่คนไทยต่อไป ได้เกิดผล ขยายผลไปอย่างกว้างขวาง สะท้อนให้สังคมไทยรับรู้ว่าองค์กรอย่างซีพีไม่เพียงทำธุรกิจเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน ยังเป็นองค์กรพุทธมามกะที่ส่งเสริม บำรุงพุทธศาสนารวมทั้งศาสนาอื่นๆเพื่อสร้างสังคมที่สันติสงบสุข