“ภูมิ ศิรประภาศิริ”เพื่อนพนักงานซีพี นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง ผู้น้อมนำกระแสพระราชดำริมาปรับใช้ในการทำงาน

CP Story ชวนไปรู้จัก “ภูมิ ศิรประภาศิริ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้านความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ อดีตนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และยังได้น้อมนำแนวพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ในการทำงานด้านความยั่งยืนที่เครือซีพี

“เรียนรู้ ลงมือทำจริง” จากการทำเกษตรโครงการหลวงในวังสวนจิตรลดา
​คุณภูมิ ได้บอกเล่าถึงเรื่องราวชีวิตอดีตนักเรียนที่ได้มีโอกาสเข้าศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา ที่ไม่ได้เพียงการศึกษาความรู้วิชาการเท่านั้น แต่ยังได้ประสบการณ์ “การเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง” ในการทำการเกษตรจาก โครงการหลวง ภายในรั้ววังสวนจิตรลดา เพื่อทำการศึกษา ทดลอง และวิจัยทางด้านเกษตรกรรม ซึ่งเป็นสถานที่แห่งแรก ที่ทำให้คุณภูมิได้ซึมซับถึงพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงจัดตั้งโครงการส่วนพระองค์ขึ้นเพื่อศึกษาและวางแนวทางแก้ไขความเดือดร้อนทุกข์ยากให้พสกนิกร รวมไปถึงการทดลองเกษตรจนกลายเป็นโครงการตัวอย่างที่เปิดโอกาสให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาได้นำไปประยุกต์ใช้เป็นแบบอย่างปฏิบัติตาม

“ผมโชคดีที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 และ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้มีโอกาสไปศึกษาในโรงเรียนจิตรลดา ซึ่งก็เป็นโรงเรียนในรั้วในวัง แต่ว่าเป็นวังที่คงไม่เหมือนกับกษัตริย์ของประเทศอื่น ๆ เพราะในรั้ววังสวนจิตรฯ ไม่ใช่ว่ามีแต่พระราชวังเท่านั้น แต่มีแปลงทดลองเกษตรมากมาย มีโรงวัว โรงช้าง ทุ่งนา บ่อปลา โครงการหลวงต่างๆ”

โอกาส “ทุนเล่าเรียนหลวง” เปิดโลกทัศน์เด็กไทยในอเมริกา
​ช่วงมัธยมศึกษาปีที่ 6 คุณภูมิได้รับโอกาสสามารถสอบผ่านจนได้รับทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตามความฝันที่อยากจะเรียนต่อทางด้านเศรษฐศาสตร์ คุณภูมิเล่าให้ฟังว่า เป็นช่วงที่นักเรียน หลายคนมีความสนใจอยากไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ซึ่งทุนการศึกษาที่สนับสนุนมีไม่มากนัก ได้พยายามศึกษาหาข้อมูลและได้รับคำแนะจากครูแนะแนวให้ไปสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวง จนสามารถสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Harvard มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ

“ทุกคนก็มีความฝันที่อยากไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยที่เมืองนอก ผมก็สนใจ และก็โชคดีอาจารย์แนะแนวบอกว่ามีทุนเล่าเรียนหลวง หรือว่าทุนคิงที่พวกเรารู้จักกัน ผมก็ลองไปสอบดู ตั้งใจศึกษาหาข้อมูลก่อนไปสอบมาก และได้ไปสอบข้อเขียนสอบสัมภาษณ์จนในที่สุดได้รับโอกาสจากทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อต่างประเทศ ที่สหรัฐอเมริกาในสาขาเศรษฐศาสตร์ ผมรู้สึกว่าทำให้เด็กคนนึงได้เปิดโลกทัศน์ชีวิตในต่างแดนอีกด้วย”

ทุนดังกล่าวเป็นทุนการศึกษาแบบให้เปล่าสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่ต่างประเทศ ในแต่ละปีจะมีการแข่งขันที่สูงมาก เนื่องจากจำกัดการให้ทุนปีละ 9 ทุนเท่านั้น โดยทุนเล่าเรียนหลวงมีข้อกำหนดเดียวคือให้ผู้รับทุนกลับมาทำงานในประเทศไทยเท่ากับระยะเวลาที่ไปศึกษาโดยไม่จำเป็นว่าต้องทำงานให้กับภาครัฐ ซึ่งไม่เหมือนกับทุนการศึกษาของรัฐบาลไทยอื่นๆ ที่จะต้องทำงานให้กับรัฐบาลไทย

จุดเริ่มต้นการทำงาน “ตอบแทนคุณแผ่นดิน” ที่เครือซีพี
​คุณภูมิศึกษาจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทาลัย Harvard และศึกษาต่อปริญญาโทด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัย Duke เพราะมีความสนใจในด้านเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมเป็นทุนเดิม หลังเรียนจบคุณภูมิได้ทำงานต่อที่สหรัฐอเมริกาในฐานะที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์ประมาณ 2 ปี และกลับมาทำงานต่อที่ประเทศไทย

จนวันหนึ่งได้รับข่าวจากผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ที่รู้จักกันว่าทางเครือซีพีกำลังต้องการ คนรุ่นใหม่เข้าไปทำงาน ซึ่งขณะนั้นเครือซีพีกำลังสร้างสถาบันผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่เป็นศูนย์ฝึกอบรม เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในเครือฯ เนื่องจากขณะนั้นผู้บริหารต้องการมุมมองใหม่ๆจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในเรื่องของความยั่งยืน จึงได้เริ่มต้นทำงานในโครงการดังกล่าวในตำแหน่งผู้ประสานงานระหว่างผู้บริหาร กับทีมงาน รวมถึงงานทางด้านวิชาการและให้คำปรึกษาในเชิงสิ่งแวดล้อมของสถาบันแห่งนี้

หลังจากนั้นคุณภูมิย้ายมาทำงานต่อที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในส่วนงานที่เกี่ยวกับความยั่งยืน เป็นจังหวะเดียวกับที่บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ต่างเริ่มพัฒนาและให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความยั่งยืน ที่แบ่งออกเป็นเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

​“ผมได้รับโอกาสที่ดีจากผู้ใหญ่ให้ได้เข้ามาทำงานด้านความยั่งยืนที่กลุ่มทรู มาช่วยระดมความรู้ กำหนดยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืน ซึ่งหน้าที่ของทีมงานคือการไปเสาะหาว่าประเด็นเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมใดบ้างที่ข้องแวะกับกิจการของบริษัท เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเชิงลบกับสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันต้องสร้างความยั่งยืนให้เกิดผลกระทบเชิงบวกแก่สังคมและประเทศชาติ”

“ปิดทองหลังพระ” แนวพระราชดำริของในหลวงร. 9 สู่การปรับใช้ในการทำงาน
ด้วยความภูมิใจของการได้เป็นศิษย์เก่าทุนเล่าเรียนหลวงที่ได้กลับมาทำงานรับใช้แผ่นดินไทยในองค์กรเอกชน ชั้นนำของประเทศอย่างเครือซีพี องค์กรที่ดำเนินกิจการภายใต้ “พระบรมโพธิสมภาร” มาอย่างยาวนานกว่าศตวรรษ นักเรียนทุนคนนี้ไม่ลืมน้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่การปรับใช้ในการทำงาน ด้วยการน้อมนำหลักคิด “ปิดทองหลังพระ” ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์ท่านมักจะตรัสอยู่เสมอ นั่นคือ “การทำความดีโดยที่เราไม่จำเป็นต้องเปิดเผย”

คุณภูมิมองว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ให้กำลังใจแก่คนทำงานได้ดี เพราะหลายผลงานอาจจะไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นหรือสาธารณะได้รับทราบแต่ว่างานเหล่านั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องทำ อีกเรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนทำงาน คือการถามตัวเองถึง “หน้าที่” คือการทำประโยชน์ต่อตนเอง ต่อคนอื่น หรือต่อบริษัทได้มากขนาดไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยประทานสัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศ ถึงเรื่องงานของกษัตริย์ไทย

​“การปิดทองหลังพระ ถ้าเราทำงานของตัวเองให้ดีแล้ว และเป็นงานที่ส่งผลดีต่อผู้อื่น สิ่งที่เราทำดีแล้ว จะเป็นรางวัลในการทำงานของเราเอง ซึ่งเราอาจไม่ได้รับการสรรเสริญเยินยอจากภายนอกก็ได้ สิ่งสำคัญราได้ไถ่ถามตัวเองบ้างหรือไม่ว่า หน้าที่ ศักยภาพ ตำแหน่ง บริบทที่เราอยู่ เราสามารถทำอะไรเพื่อสร้างผลดีต่อคนอื่นๆ ทั้ งคนในบริษัท รวมไปถึงคนในสังคม เราต้องถามตัวเองว่าเราได้ทำประโยชน์ตอบแทนประเทศได้เต็มศักยภาพ ทีเรามีหรือยัง”

“สิ่งที่ถูกต้องต่อประเทศชาติ เราต้องทำ” ความภูมิใจที่ได้ทำงานในเครือซีพี
เครือเจริญโภคภัณฑ์ ถือเป็นบริษัทเอกชนของคนไทยที่มีขนาดใหญ่และเติบโตมาอย่างยาวนานจนปัจจุบันถึง 100 ปี และเป็นองค์กรที่มีศักยภาพในการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้คุณภูมิตัดสินใจเข้ามาทำงานที่เครือซีพี พร้อมยกบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” ขึ้นมาอธิบาย

​“ผมได้เข้ามาทำงานที่เครือซีพีประมาณ 8-9 ปีแล้ว มีความมั่นใจมากว่า องค์กรนี้เป็นองค์กรที่ประกอบด้วย คนที่พยายามตั้งใจนำแนวทางพระราชดำรัสของในหลวงมาปรับใช้ในการทำงาน ขอยกตัวอย่างบทเพลง ความฝันอันสูงสุด ซึ่งเป็นบทที่ชื่นชอบและหัดเล่นเปียโนมาตั้งแต่เด็ก….จะแน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด เป็นสิ่งที่สำคัญมากว่า สิ่งที่เราคิดว่ามันผิด สิ่งที่เรารู้ตัวว่าทำผิด ต้องแก้ไข ปรับปรุง เพื่อไม่ให้มันผิดอีก สิ่งที่เรามั่นใจว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ต่อตนเองและต่อประเทศชาติ เราต้องทำ”

​คุณภูมิ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และบริษัทในเครือ ต่างเติบโตขึ้นมาในสังคมไทยก็ด้วยการอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารของในหลวง แม้ว่าโครงสร้างของประเทศไทยจะเต็มไปด้วยปัญหา ความเหลื่อมล้ำ แต่สิ่งที่ทำให้เราได้เห็นคือการที่พระองค์ท่านทรงงานอย่างหนักมาตั้งแต่สมัยที่เริ่มครองราชย์ เพื่อพยายามพัฒนา ปรับปรุง และปูพื้นฐานในหลายด้าน เพื่อให้ประเทศชาติพัฒนาและก้าวหน้ายิ่งขึ้นจนกลายมาเป็นแนวทางให้บริษัทเอกชน นำความสามารถและศักยภาพของบริษัทมาช่วยในการพัฒนาประเทศ นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจปกติ ซึ่งเครือซีพีก็เป็นหนึ่งในองค์กรเอกชนที่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ มาเป็นลำดับแรก ดั่งค่านิยม 3 ประโยชน์ที่เครือฯยึดมั่นมาโดยตลอด

​“เครือเจริญโภคภัณฑ์ด้วยศักยภาพ ที่มีพนักงานประมาณ 360,000 คนทั่วโลก โดยที่ประเทศไทยมีพนักงานประมาณ 200,000 คน ก็มีคนที่มีศักยภาพ มีประสบการณ์ ทักษะต่างๆ ทางด้านธุรกิจที่สามารถมาช่วยแก้ไขปัญหาในประเทศได้ เพราะฉะนั้นความตั้งใจของเครือซีพี จึงไม่ใช่แค่การพัฒนาในเชิงธุรกิจ สร้างตัวเลขผลกำไร ผลตอบแทนเท่านั้น ขณะเดียวกันเราได้ตระหนักและมองถึงประโยชน์ของประเทศชาติและสังคมเป็นหลักด้วย”

ปั่นจักรยานมาทำงานสร้างแบบอย่างช่วยสังคม
ช่วงที่คุณภูมิเรียนจบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คุณภูมิเข้าเรียนต่อปริญญาโทบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยดุ๊ก ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเล็กๆ จักรยานเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดปั่นไปเรียนและท่องเที่ยวไปในตัว แม้กระทั่งเมื่อเรียนจบไปทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมที่วอชิงตันดีซี การขี่จักรยานก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่

“พอมาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในวิชิงตัน ดีซี เพื่อนๆที่ทำงานเขาก็ปั่นจักรยานมาทำงานกัน คนในเมือง ที่เป็นคนรุ่นใหม่เขาก็ปั่นกัน ก็เลยติดนิสัยขี่จักรยานมาตลอด”
เมื่อกลับมาทำงานเมืองไทย อากาศร้อน แถมรถราบนถนนขับขี่กันน่ากลัว จักรยานที่นำกลับมาก็เลยต้องเก็บใส่กล่องเลิกใช้จักรยานไปพักใหญ่ จนได้มาเข้าสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย การออกทริปท่องเที่ยวในย่านเก่าๆ ในกรุงเทพฯ ที่มีทั้งผู้อาวุโส คนเกษียณอายุไปจนถึงวัยเด็ก ซึ่งไม่เพียงแต่ได้ออกกำลังกายและความเพลิดเพลิน ภูมิจึงเลือกหวนสู่โลกจักรยานอีกครั้ง เมื่อเห็นแล้วว่า ไม่ว่าถนนกรุงเทพฯ หรือเมืองไหนก็ปั่นจักรยานได้เหมือนกัน หากรู้จักการปั่นอย่างถูกวิธี

“การที่ปั่นในกรุงเทพฯ ใช้ความระวัง รู้เขารู้เรา ไม่ได้ขี่ทุกที่ ที่ไหนอันตราย เช่น บนถนนที่รถวิ่งเร็ว หรือไปขี่ในจุดที่เขามองไม่เห็นเรา ถ้าจะกลับรถก็ควรใช้ทางม้าลาย หรือไม่ก็ควรใช้สะพานลอย ดูข้างนอกอาจรู้สึกว่าอันตราย แต่ถ้าได้ลองปั่นแล้ว จะรู้สึกปลอดภัยกว่าซ้อนมอเตอร์ไซค์อีก”

ทุกวันนี้คุณภูมิเลือกขี่จักรยานจากบ้านไปทำงานที่ออฟฟิศ ข้อดี คือได้ทั้งออกกำลังกาย กำหนดเวลาเดินทางแน่นอน ไม่ต้องเจอปัญหารถติด ได้ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ต้องใช้น้ำมัน ไม่ต้องปล่อยมลพิษ จะใช้รถยนต์ส่วนตัวเมื่อจำเป็นเท่านั้น หรือไม่ก็ใช้บริการขนส่งมวลชนแทน

เมื่อเห็นถึงข้อดีหลายอย่างคุณภูมิ จึงเข้าร่วมทำกิจกรรมกับสมาคม และหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมรณรงค์ให้คนขี่จักรยาน เช่น สมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพไทย กลุ่มจักรยานจามจุรีสแควร์ มูลนิธิโลกสีเขียว และยังได้ร่วมก่อตั้งบางกอกไบซิเคิลแคมเปญรณรงค์ในเฟซบุ๊ก เชื่อมโยงผู้ใช้จักรยานทั้งมือเก่าและมือใหม่แลกเปลี่ยนความรู้ และเป็นช่องทางรวบรวมข้อมูลนำเสนอต่อหน่วยงานรัฐ อย่างกรุงเทพมหานคร ผลักดันให้รัฐเห็นความสำคัญกับขี่จักรยานมากขึ้น

คุณภูมิบอกว่า เขาไม่หวังว่าเมืองไทยจะต้องมีเส้นทางจักรยานดีๆ เหมือนในเมืองนอก เพราะหลายเมืองก็ไม่มีทางจักรยาน แต่การขี่จักรยานก็เป็นเรื่องปกติที่ทำได้ ดังนั้นสิ่งที่เขาอยากให้เกิดขึ้น คือ ขอให้จักรยานได้เป็นส่วนหนึ่งในท้องถนนที่ขี่ได้ปลอดภัย

“สิ่งที่ต้องผลักดันคือ การเพิ่มพลเมืองจักรยาน เพราะยิ่งมีคนขี่จักรยานมากขึ้น การขี่ก็ยิ่งปลอดภัย ถ้าเพิ่มจำนวนคนขี่จักรยาน ยิ่งคนเห็นคนขี่จักรยานมากขึ้น อุบัติเหตุจะลดลงตามไปด้วย” นี่คือความหวังของคุณภูมิ

นอกจากนี้คุณภูมิ เพื่อนชีพีของเรา เคยเป็นหนึ่งในสมาชิกวงสวนพลูคอรัส หลังจาก “วงสวนพลูคอรัส” ที่ได้รับความสำเร็จอันยิ่งใหญ่และสร้างประวัติศาสตร์เป็นคณะประสานเสียงวงแรกของประเทศไทยที่สามารถคว้าเหรียญทองได้ทั้ง 2 ประเภท (Folklore และ Mixed Chamber Choirs) บนเวที World Choir Games 2014 ที่กรุงริก้า เวทีแข่งขันการร้องประสานเสียงที่ใหญ่ที่สุดในโลก อีกด้วย

Cr:PR CPG/Positioning