ความสำเร็จของธุรกิจเครือซีพีในตลาดจีน

ประธานธนินท์ เจียรวนนท์ พบปะกับผู้นำสูงสุดจีน เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้ประกาศนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ
และเปิดประเทศจีนในปลายทศวรรษที่ 1970 (ภาพจาก Baidu)

วันนี้ผู้เขียนขอบอกเล่าถึงความสำเร็จของธุรกิจเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือ ซีพี กรุ๊ป (CP Group)ในประเทศจีน เมื่อกล่าวถึง “ซีพี”แล้วคงไม่มีคนไทยคนไหนที่ไม่รู้จักบริษัทมหาชนนี้ ในประเทศจีนคนจีนรู้จัก “ซีพี” ในนาม“เจิ้งต้า” (正大集团) ตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1990 หลังจากที่รายการทีวี “เจิ้งต้าจงอี้” (正大综艺) ที่ถ่ายทอดผ่านสถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน หรือ CCTV ได้รับความนิยมอย่างสูงจากชาวจีนอย่างกว้างขวาง

ผู้เขียนเองใช้ชีวิตในจีนได้เห็นการพัฒนาธุรกิจอาหาร“ซีพี”ในจีนเติบโตอย่างโดดเด่นมาตลอด สินค้าอาหารแช่แข็งของซีพีมีขายทั่วไปในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศจีน การที่เราได้เห็นผลิตภัณฑ์ซีพีบ่อยๆในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าออนไลน์ ผู้เขียนมองว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมาถึงจุดนี้ แสดงว่า”ซีพี” มีห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่ใหญ่และมีศักยภาพอย่างยิ่ง

“ซีพี”เป็นบริษัทต่างชาติรายแรกที่เข้าลงทุนในประเทศจีนยุคเริ่มต้นนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศภายใต้การนำของเติ้งเสี่ยวผิงผู้ประกาศนโยบายฯดังกล่าวในปลายทศวรรษที่ 1970 โดยในปี ค.ศ.1981 “ซีพี” ได้รับใบอนุญาตลำดับที่ 0001 สำหรับเข้าลงทุนที่เมืองเซินเจิ้น และในปีต่อมา 1982 ได้รับใบอนุญาตเข้าลงทุนเป็นรายแรก คือหมายเลข 0001 จากเมืองจูไห่ และซ่านโถว (ซัวเถา) ซีพีได้ก้าวเข้ามาในตลาดจีนในทศวรรษที่ 1980 จากวันนั้นถึงวันนี้ “ซีพี” อยู่ในตลาดจีนมาแล้วกว่า 40 ปี จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมชื่อของ “ซีพี” หรือ “เจิ้งต้า” เป็นที่รู้จักของคนจีนทั่วไป

ภาพใบอนุญาตให้ “เจิ้งต้า” (เครือ ซีพี) เข้าลงทุนในเมืองเซินเจิ้นเมื่อปี 1981
โดยเป็นใบอนุญาตหมายเลข 0001 จีนได้ถือว่า “เจิ้งต้า” เป็นต่างชาติรายแรกที่เข้าลงทุนในจีน

ซีพีเข้ามาลงทุนในจีนช่วงเปิดประเทศปีแรกๆซึ่งขณะนั้นโครงสร้างพื้นฐานต่างๆยังไม่เพียบพร้อม ซีพีเติบโตพร้อมกับการพัฒนาปฏิรูปเศรษฐกิจจีนยุคแรก ประธานธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานบริษัทซีพีในจีน เคยให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวจีนว่า “เราเป็นผู้ร่วมก่อสร้างเขตเศรษฐกิจใหม่ของจีน เป็นผู้ที่เห็นจริงและเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์”

ประธานธนินท์ เจียรวนนท์ ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในกลุ่มคนจีนโพ้นทะเลที่มีอิทธิพลในจีน และเป็น “นักลงทุนต่างชาติคนแรกของจีน”

ปัจจุบันธุรกิจของกลุ่มซีพีในจีนมีมากกว่า 400 บริษัท พนักงานในจีนมากกว่า 80,000 คน มูลค่าการลงทุนทั้งหมดของเครือซีพีในจีนมากกว่า 1.2 แสนล้านหยวน รายได้รายปีของซีพีปีละ 1.2 แสนล้านหยวน บริษัทภายใต้เครือซีพีที่มีศักยภาพและเป็นที่รู้จักในจีนได้แก่ อาหารแปรรูปและอาหารสดซีพี อาหารสัตว์ซีพี ไข่ไก่ซีพี เมล็ดพันธุ์พืชซีพี ห้างค้าส่งโลตัส มอเตอร์ไซด์ต้าหยาง ห้างเจิ้งต้าซูเปอร์มอลล์ในเซี่ยงไฮ้ เวชภัณฑ์ยาซีพี และรายการทีวีเจิ้งต้าจงอี้ เป็นต้น

ตารางผลประกอบการของ “เจิ้งต้า” ในจีน แสดงรายได้ธุรกิจ/
ผลกำไรรวมทั้งสิ้น/กำไรสุทธิ จากปี 2006-2017 (ภาพจาก Tencent News)

*จากตาราง Financial Data Summery Sheet 2006-2017 (ดูภาพตารางประกอบ) แสดงรายได้ธุรกิจ/ผลกำไรรวม และผลกำไรสุทธิจากปี 2006-2017 ของเครือซีพีในจีนจะเห็นได้ว่า มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว กำไรรวมของบริษัทจากหลักร้อยล้านหยวนถึงพันล้านหยวนโดยใช้เวลาเพียง 4-5 ปีเท่านั้น ดังนั้น “ซีพี”ในจีนโดยรวมนั้นเติบโตขึ้นอยู่ตลอด สินค้าอาหารแช่แข็งและแปรรูปของซีพีได้รับความไว้วางใจจากชาวจีน เนื่องจากซีพีเน้นเรื่องความสด สะอาด จากโรงงานที่มีการควบคุมคุณภาพการผลิตอย่างเคร่งครัด ทำให้สินค้าซีพีในจีนมีภาพลักษณ์ที่ดี

หากท่านผู้อ่านที่เคยไปเซี่ยงไฮ้ บริเวณใกล้ๆกับอาคารโอเรียนทัล เพิร์ล (Oriental Pearl TV Tower) มีห้างใหญ่คือ“เจิ้งต้าซูเปอร์มอลล์” (Zhengda Super Brand Mall) ซึ่งห้างแห่งนี้ลงทุนโดย “ซีพี”ในปี 2002 ขณะนั้นใช้เงินลงทุนมากกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของเขตการเงินลู่จยาจุ่ยแห่งนครเซี่ยงไฮ้ ถึงแม้ปัจจุบันลู่จยาจุ่ยมีตึกสูงระฟ้าผุดขึ้นมากมาย “เจิ้งต้าซูเปอร์มอลล์” ก็ยังเป็นห้างใหญ่ที่โด่งดังในย่านนั้น ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ ห้างร้านที่ครบครัน คนเดินมากมาย ในช่วงวันหยุดเนื่องในวันชาติจีน (1 ต.ค.) ที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสกลับไปเยือน “เจิ้งต้าซูเปอร์มอลล์” อีกครั้ง และพบว่าในห้างยังคึกคักเหมือนเดิม มีร้านอาหารเพิ่มขึ้นมากมาย และหลายจุดกำลังอยู่ในช่วงปรับปรุง โดยรวมแล้วยังมีคนเดินซื้อของและนั่งทานอาหารอยู่ในร้านอาหารต่างๆอยู่เป็นจำนวนมาก หากมองอีกมุมหนึ่ง ผู้เขียนมองว่าห้างนี้เป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของซีพีในจีนได้อย่างดี การที่รัฐบาลจีนอนุมัติและมอบ “ที่ดินทอง”ผืนนี้ให้กับซีพีเป็นผู้พัฒนาและก่อสร้างห้างขนาดใหญ่เช่นนี้ได้ แสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างซีพีและรัฐบาลจีน พร้อมทั้งศักยภาพที่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง

เจิ้งต้าซูเปอร์มอลล์ของเครือซีพี ในเขตลู่จยาจุ่ย เซี่ยงไฮ้ ถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของเมืองเซี่ยงไฮ้

ในปี 2009 ทางการจีนได้จัดอันดับ “ธุรกิจของชาวจีนโพ้นทะเลในจีนแผ่นดินใหญ่ 500 บริษัท” “ซีพี” นำโด่งเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีรายได้รวมต่อปีในขณะนั้น 4.9 หมื่นล้านหยวน ในปี 2012 ความสำเร็จของซีพีก้าวหน้าไปอีกขั้นคือการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ลำดับที่หนึ่งของบริษัทประกันภัยอันดับต้นๆของจีน คือ ผิงอัน อินชัวรันส์ กรุ๊ป (中国平安 /Pingan Insurance Group)

โดย”ซีพี”มีสัดส่วนหุ้นอยู่ 15.57% โดยในการเข้าถือหุ้นในผิงอัน อินชัวรันซ์ ซีพีให้กลุ่มบริษัทย่อยของตนเข้าถือหุ้น

นอกจากนี้ในปี 2015 ซีพียังลงทุนถือหุ้นในบริษัทการเงินรายใหญ่ของจีนคือ ไชน่า ซิติก กรุ๊ป (China CITIC GROUP) โดยจับมือตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัทการค้าของญี่ปุ่น อิโตชุ (ITOCHU) โดยถือหุ้นคนละครึ่ง และเข้าถือหุ้นในไชน่า ซิติก 20.61%กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับที่สอง

ในปี 2016 ซีพีกรุ๊ปเซ็นสัญญาร่วมมือกับอาลีบาบา กรุ๊ปและแอนท์กรุ๊ป(Alipay) ในด้านการค้าออนไลน์ การบริการทางเงิน โลจิสติกส์ สินค้าเกษตรและอาหาร การค้าปลีกและด้านการช่วยเหลือประชาชนชนบทให้หลุดพ้นจากความยากจน โดยเน้นที่การอัปเกรดเส้นทางสินค้าเกษตรจากชนบทสู่คนเมือง เพิ่มบริการด้านการสนับสนุนทางการเงินเพื่อชนบท เป็นต้น

การเติบโตของซีพีในจีนยังมีอีกมากมาย ในยุคนี้ซีพีพยายามเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรยุคใหม่ในจีนอย่างเต็มที่ รักษาคุณภาพและภาพลักษณ์ของสินค้า การค้าปลีกยุคใหม่ที่ปรับตัวให้ทันสมัย และจากที่ผู้เขียนแนะนำไปข้างต้นธุรกิจซีพีในจีนไม่ใช่เพียงแค่ด้านการเกษตรเท่านั้น ในด้านของการธนาคาร การเงินและประกันภัย ก็เป็นธุรกิจที่ซีพีเข้าไปลงทุนและมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน กุญแจสู่ความสำเร็จของซีพีในจีนอีกด้านหนึ่งคือ การเข้าใจจีนอย่างลึกซึ้งและเดินตามนโยบายที่สำคัญของจีนมาโดยตลอดนั่นเอง

 

โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์
และธุรกิจระหว่างประเทศ วิทยาลัยนานาชาติ กรุงปักกิ่ง (UIBE)

ที่มา:ผู้จัดการออนไลน์