มร.แคมเบิล 1ในผู้บริหารที่ร่วมสร้างตำนานเครือซีพียุคแรก

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อมร.แคมเบิลในตำนานของร้านเจียไต๋ยุคแรก หลายคนคงอยากรู้เรื่องราวและบทบาทของมร.แคมเบิล

มร.แคมเบิลชื่อเต็มว่า MR.ROBERT A.CAMPBEL มีชื่อไทยว่าคุณเปรโตร คมสันต์ เพชรทวิเลิศ อดีตผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศ บริษัทเจียไต๋ จำกัด

คุณวัลลภ เจียรวนนท์ รองประธานอาวุโส เครือฯเป็นผู้บริหารที่มีโอกาสสัมผัส ใกล้ชิดกับมร.แคมเบิลในฐานะผู้บังคับบัญชาเล่าว่า มร.แคมเบิลเป็นลูกครึ่งไทย-อังกฤษ ในสมัยแรกท่านเป็นหุ้นส่วนกับคุณพ่อ(ท่านชนม์เจริญ เจียรวนนท์)ก่อตั้งบริษัทเสียงไทย ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายโอวัลตินและได้เลิกกิจการไป คุณพ่อก็เลยชวนท่านเข้ามาร่วมงานที่เจียไต๋เนื่องจากเห็นว่าท่านเป็นคนดีและในสมัยนั้นบริษัทเรายังไม่มีคนดูแลเรื่องโต้ตอบจดหมายภาษาอังกฤษ รวมถึงการทำเอกสารนำเข้าส่งออกสินค้าต่างประเทศ ท่านก็เลยมาช่วยคุณพ่อ ซึ่งท่านจะสนิทสนมกับคุณพ่อมาก ท่านเป็นคนขยันขันแข็ง และซื่อสัตย์ต่อบริษัทมาก ทั้งที่ท่านเป็นชาวต่างชาติ แม้ว่าจะมีบริษัทอื่นมาติดต่อให้ท่านไปทำและให้เงินเดือนที่สูงท่านก็ปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่าทำงานที่อื่นไม่สบายใจเหมือนทำงานกับเพื่อน ซึ่งมีความเข้าใจและให้ความเชื่อถือกันมากกว่า”

คุณวัลลภเล่าอีกว่า”มร.แคมเบิลมาร่วมงานตั้งแต่ผมอายุยังไม่ 10ขวบส่วนท่านประธานกิตติมศักดิ์อายุ20กว่าก็มาเรียนภาษาอังกฤษกับท่านจนท่านประธานจรัญสามารถพูดภาษาอังกฤษได้เก่งก็เพราะได้อาจารย์คนนี้ นอกจากนี้ก็มีคุณเอี่ยม งามดำรงค์ มร.แคมเบิล พอเวลาว่างท่านก็สอนภาษาอังกฤษให้กับคุณเอี่ยม”

มร.แคมเบิลถือเป็นพนักงานชาวต่างประเทศที่เข้ามาร่วมงานกับเครือฯในระยะเวลาที่ยาวนานมากที่สุด

ในช่วงบั้นปลายชีวิตมร.แคมเบิลมีปัญหาโรคต้อหินที่ตา ในช่วงอายุ80ปี เครือฯได้ช่วยเหลือเป็นอย่างดี ปฏิบัติต่อท่านเหมือนสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัวมีเจ้าหน้าที่บริษัทดูแล มอบค่าใช้จ่ายตลอดที่ท่านมีชีวิตอยู่จนท่านเสียชีวิตในเวลาต่อมาด้วยโรคชรารวมอายุได้ 95ปี

มร.แคมเบิลคือทรัพยากรบุคคลอันทรงคุณค่า ตลอดระยะเวลาทำงานกว่า50ปี ได้รังสรรค์ผลงาน และสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับเครือซีพีด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ขยันขันแข็งและจงรักภักดีต่อบริษัท

“แม้ท่านจากไปแล้ว คุณงามความดีและผลงานของท่านจะอยู่ในความทรงจำของชาวซีพีตลอดไป ตลอดชีวิตของมร.แคมเบิลท่านคือผู้อุทิศชีวิตให้กับเครือซีพีอย่างแท้จริง” คุณวัลลภกล่าว

วารสารบัวบาน ก.ค.2540 /เรื่องเล่า
ของอาม่า เจียร เจียรวนนท์