คุณมิน เธียรวร 63ปี ในซีพี จากนักบัญชีคนแรกของร้านซีพีสู่การวางรากฐานบัญชีการเงินซีพีที่มั่นคง/บัญชีคือกระจกส่องฐานะบริษัท

ในโอกาสที่เครือซีพีเข้าสู่ช่วงเวลา 100ปีที่ดำเนินกิจการมายาวนาน คุณมิน เธียรวร รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็น1 ในผู้มีส่วนสร้างประวัติศาสตร์ซีพีได้เล่าให้กับคณะทำงานด้าน Content 100 ปี ซีพีถึงวันที่ท่านเข้ามาทำงานในซีพีว่า

#จากนักบัญชี63ปีซีพี
“ก่อนหน้าที่จะเข้ามาซีพี ผมเรียนจบทางด้านบัญชีไปเรียนกับอาจารย์เล็กที่กรุงเทพการบัญชี เป็นวิชาบัญชีโดยตรง แถววังบูรพา เรียนตอนกลางคืน เวลานั้นบรรดาร้านค้าขาดคนทำบัญชีก็มี คนไปเรียนกันเยอะ ผมจบแค่พาณิชย์ไม่ได้จบอะไรมากมาย หลังจากนั้นก็ไปทำงานที่ร้านขายทอง ผมไปทำงานอยู่ร้านขายทอง เพชรพลอย แต่เวลานั้นยังเด็กอยู่ แล้วให้เรารับผิดชอบเรื่องเงินเรื่องทองไว้ใจเรา สมัยนั้นส่งไปที่หาดใหญ่ใส่กระเป๋ามีทั้งทองแท่ง ทองรูปพรรณ ผมก็ทำงานอยู่กับบริษัทนี้ที่พาหุรัดประมาณ 2-3ปี แม่ผมก็ชักห่วงบอกว่ามันอันตราย สุดท้ายแม่ก็ไม่อยากให้ผมทำ ผมก็ไปทำงานกับญาติที่เป็นเอเยนต์ขายเครื่องไฟฟ้าก็เข้าไปทำแต่ไม่นานประมาณปีกว่า พอดีไปคุยกับญาติอีกคนที่ค้าวัตถุดิบ ตอนนั้นท่านมนตรีก็ไปซื้อวัตถุดิบญาติผมคนนี้ ก็เลยแนะนำท่านประธานมนตรีว่ามีลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งที่ไว้ใจได้ คุณมนตรีก็บอกว่าตกลง ผมก็เข้ามาทำงานที่ร้านซีพี ตอนนั้นอยู่ที่วัดเกาะ ผมอายุประมาณ 24ปีก็อยู่กับซีพี ถึงวันนี้ก็ 63 ปี”

“ตอนที่เข้ามาเวลานั้นก็มีคุณประเสริฐ อยู่หน้าร้าน ผมก็ทำบัญชี แล้วก็มีพี่เขยท่านประธานธนินท์คุณเตี๋ยว เป็นแคชเชียร์ ผมก็ทำบัญชีอยู่แล้ว ค่อยย้ายไปสุริวงศ์ ผมก็ทำบัญชีมาตั้งแต่ต้น ตอนนั้นบริษัทเราก็เล็กอยู่ ส่วนการเงินก่อนหน้าก็มีคุณหญิงเอื้อปรานีแล้วก็เป็นคุณเตี๋ยว หลังจากนั้น 4-5ปีอาเตี๋ยวเสียไปแล้วผมก็ไปทำแทน ก็ดูทั้งบัญชี การเงิน ทำงานตอนนั้นก็ไม่มีวันหยุด ตอนนั้นมูลค่าการค้าก็ไม่เยอะ ลูกค้าส่วนใหญ่จะอยู่ทางภาคกลาง การแข่งขันก็ไม่ได้สูงมาก ท่านประธานมนตรีก็บริหารอยู่ที่ร้าน ส่วนท่านประธานจรัญก็อยู่ที่โรงงาน ส่วนท่านประธานธนินท์ยังไม่เข้ามา ท่านประธานสุเมธก็เข้ามาทีหลังเหมือนกัน ช่วงที่ประธานธนินท์เข้ามาดูแลก็มีการเปลี่ยนแปลงมาก แต่เรื่องบัญชี การเงินท่านประธานต่างๆก็ไม่ได้มายุ่งให้ผมดูแล 4พี่น้องก็ไว้ใจผม”

คุณมินเล่าว่าช่วงแรกๆบริษัทก็ยังเป็นร้านเล็กๆ แต่ทุกคนทุ่มเทการทำงานกันทุกคน จำได้ว่าเงินเดือนตอนนั้นพันกว่าบาท ทำงานสนุก แม้จะไม่มีวันหยุด 4ทุ่ม 5ทุ่มก็ทำให้เสร็จ หลังจากทำงานมา 5ปี ท่านประธานธนินท์ก็เข้ามา แล้วก็เอาเครื่องจักรเข้ามาที่ตรอกจันทน์ แล้วหลังจากนั้นจึงขยายไปที่โรงงานอาหารสัตว์ที่กม.21 ประมาณปี2516เริ่มก่อสร้าง จนกระทั่งกิจการของเครือฯก็เริ่มเติบใหญ่ ค่อยๆขยายเรื่อยมา

#สร้างคนต้องให้ลูกน้องเก่งกว่าลูกพี่
คุณมินเล่าว่าตลอดเวลาที่อยู่ก็มาเริ่มสร้างคน เราทำงานคนเดียวไม่ได้และโลกนี้เราต้องให้ลูกน้องเก่งกว่าลูกพี่ ถามว่าสร้างคนอย่างไรก็สัมภาษณ์ หาคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยแล้วเราก็อยู่เบื้องหลังและคอยติดตามและต้องละเอียดด้วย ถ้าไม่ละเอียดก็ต้องทำให้ละเอียด ทำให้ทุกคนที่อยู่กับผมเป็นคนละเอียดมากไม่ว่าจะเป็นคุณสุรางหรือคุณอรุณีหรือใคร ใครก็รู้ว่าผมละเอียดและเราต้องลงไปลึก เพราะอย่างที่ว่าบัญชีต้องเอาความจริงมาพูดกัน ถือว่าบัญชีเป็นกระจกส่องให้ผู้บริหารรู้ ผลงานทุกอย่างต้องรู้ไม่ว่าอะไรทั้งสิ้น ถ้าบัญชีไม่เรียบร้อยมีปัญหาจะทำให้บริษัทมีปัญหา บัญชีคือหัวใจ บางคนอาจจะเข้าใจผิด คิดว่าบัญชีไม่มีอะไร แค่รับจ่าย แต่บัญชีเป็นหัวใจของบริษัท ทุกอย่างต้องทำยังไงให้พวกผู้บริหารรู้ว่าเป็นอย่างไรและไม่โกหกด้วยต้องพูดความจริงว่าดีก็ดีไม่ดีก็ว่าไม่ดี

“ตอนนั้นผมมีทีมดูแลเป็นกระจกให้บริษัท 10คนก็อยู่กันมายาวนาน แต่บางคนอายุมากก็ลาออกไป แต่ส่วนใหญ่ก็ยังทำงานอยู่กับซีพี เติบโตมาพร้อมกับซีพี ตอนที่ผมคัดทีมงานเข้ามาก็จะดูว่าเป็นคนที่พูดอะไรถูกต้องไหม ซื่อสัตย์หรือเปล่า และนิสัยเป็นอย่างไร ต้องดูนิสัยใจคอ แล้วเราก็แบ่งงาน กระจายงานออกไป คนเดียวทำไม่ไหว แล้วก็ให้คนหนึ่งไปสร้างอีกคนหนึ่ง อย่างที่บอกลูกน้องต้องเก่งกว่าลูกพี่”

#สร้างความเชื่อถือความเชื่อใจ
คุณมินย้อนให้ฟังถึงการสร้างความเชื่อถือของบริษัทว่าตอนนั้นบริษัทซีพีเราเล็กๆแต่เราก็สร้างความเชื่อมั่นกับลูกค้าด้วยการทำธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ ในเรื่องของบัญชีการเงิน เราก็สร้างความเชื่อใจอย่างธนาคาร ทำให้ มีความไว้ใจมากขึ้นๆ พูดอะไรเป็นความจริง ถึงเวลามีปัญหาขึ้นมาธนาคารถามว่าจะเชื่อได้อย่างไร แบงก์ก็บอกให้ผมค้ำประกันร่วมด้วย สมัยนั้นก็เป็นแบบนี้ ผมกับท่านประเสริฐ ท่านประธานก็ต้องร่วมค้ำประกัน ส่วนใหญ่ผมก็ต้องไปเจรจา หากมีประเด็นเกี่ยวข้องทางกฎหมายผมก็ใช้วิธีการปรึกษาคนที่มีความรู้ความสามารถแล้วเข้ามาช่วยกันและถ้าเราไม่เข้าใจก็ต้องทำให้เข้าใจ ทำให้เครือมีเครดิตที่ดี ผมก็มีส่วนในการวางพื้นฐานด้านบัญชี การเงินของซีพี

แล้วตอนหลังมีการดำเนินงานในรูปของบริษัทมากขึ้น ก็มี ดร.วีรวัฒน์ กาญจนดุล เข้ามาช่วยดร.อาชว์ เตาลานนท์มาช่วยกันวางระบบบัญชี การเงิน การจัดทำงบประมาณสมัยใหม่ รองรับการเติบโตของบริษัทอย่างเรื่องของการลงทุนหรือการขยายธุรกิจ ยกตัวอย่างอาหารสัตว์ทางบัญชีก็ศึกษารู้ว่ามีกำไรแม้จะต้องกู้เงินจากธนาคาร ถ้าเรามีความสามารถในการใช้หนี้ได้ ส่วนที่ว่าบัญชีห่วงโน้นห่วงนี่ ก็เป็นหน้าที่ เป็นกระจกให้ผู้บริหาร บางทีอาจมีความขัดแย้งบ้าง แต่ก็อยู่ที่ผู้บริหาร ถ้าเค้าจะไปลงทุนเราก็ตามไปด้วย ในช่วง40กว่าปี ตอนที่ดร.วีรวัฒน์เข้ามาก็ช่วยทำให้ระบบบัญชี การเงิน พัฒนาดีขึ้น ช่วยให้มีการวิเคราะห์ เป็นระบบและก็ทำให้มีความเข้าใจที่ดี ทำให้เรื่องที่ยากเป็นเรื่องง่ายที่ช่วยสร้างความเข้าใจ อธิบายให้เกิดความชัดเจน อย่างสมัยก่อนตอนเราตัดสินใจใช้ระบบSAPเราก็เห็นแล้วว่าทั่วโลกก็ใช้อันนี้ แม้จะมีต้นทุนที่แพง

#ถือว่างานเป็น”ของเรา”ไม่ใช่”ของใคร”
ถามคุณมินว่าจะบอกได้ไหมว่า100ปีที่ซีพีเติบโตมาได้ปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะระบบบัญชี การเงิน คุณมินบอกคิดว่าอันนี้เป็นเพราะเราทำงานเป็นทีมและทุกทีมทำทุกอย่างเพื่อบริษัท เพื่อส่วนรวม ทีมบัญชี การเงินก็เป็นส่วนหนึ่ง ส่วนการไปลงทุนส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่ผู้บริหารมากกว่าทั้งท่านประธานจรัญ ประธานมนตรี ประธานธนินท์ ประธานสุเมธตกลงกันแล้วก็เดินตาม แต่บัญชีก็มีการท้วงติงบ้างไม่ให้ขาดทุน เราจัดการความขัดแย้งด้วยการมองว่างานนั้นเป็นของร่วมกัน ช่วยกันจัดการ ช่วยกันคิดไม่ว่าจะดูภาพรวมและถือว่าเป็น”ของเรา”ไม่ใช่”ของใคร” อย่างตอนที่ซีพีไปลงทุนทำโทรศัพท์ต้องใช้เงินมาก ตอนนั้นก็อาศัยท่านประธานธนินท์เป็นหลักในการติดต่อ ทุกอย่างธนาคารเป็นคนให้เรายืม แล้วธนาคารก็เชื่อมั่นในโครงการแล้วก็มาช่วยเราดูแลสัญญาต่างๆ แม้เครือฯจะมีช่วงที่เจอกับวิกฤตด้านการเงินช่วงฟองสบู่แตก ซึ่งเราอาจไม่ได้ระวังในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งการกู้เงินพอกู้มามากก็เสียหายมากก็เป็นบทเรียนที่ทำให้เราต้องระมัดระวัง ต้องซื้อประกันไว้เพื่อให้ความเสี่ยงน้อยลง แม้จะมีต้นทุนสูงขึ้นแต่ก็สม่ำเสมอก็จัดการได้

#แยกแยะการดูแลองค์กร/เพื่อนพนักงาน
แม้ว่าหลายคนอาจจะมองว่าบัญชีของซีพีเข้มงวดในเรื่องการจับจ่ายแต่เมื่อฟังคุณมินอธิบายทำให้มีความเข้าใจการทำงานของบัญชีเพราะเงินกว่าจะหามาได้ไม่ใช่ง่ายๆ การใช้เงินทุกบาททุกสตางค์จึงต้องมีเหตุผล เป็นไปด้วยความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์ต่อองค์กรเรื่องของเงินทองเป็นเสมือนเลือดที่หล่อเลี้ยงบริษัทให้สามารถมีชีวิต แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่าในส่วนตัวคุณมินเป็นผู้บริหารที่ใจดีห่วงใยในพนักงานที่จะต้องมีภาระก่อร่างสร้างตัวด้วยการค้ำประกันเงินกู้เพื่อช่วยพนักงานหลายร้อยคน เป็นการแยกที่ชัดเจนระหว่างผลประโยชน์ของบริษัทที่ต้องดูแลกับเรื่องของพนักงานที่ต้องช่วยเหลือในยามที่มีความจำเป็น คุณมินบอกว่าสำคัญคือเราจะต้องเป็นตัวอย่าง เราทุกอย่างต้องไม่เอาเปรียบบริษัท ถ้าเราทำทุกอย่างตรงไปตรงมาพนักงานก็จะทำตาม ถ้าเราไม่เป็นตัวอย่างพนักงานระดับล่างก็จะไม่ทำตาม ถ้าต้นไม้ตรง ทุกอย่างก็ตรง อย่างเรื่องเงินทองของบริษัทต้องละเอียด ต้องดูให้ลึกและต้องวิเคราะห์ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ได้เพราะอะไร เสียเพราะอะไร

ถามถึงมุมมองเรื่อง 6ค่านิยมของซีพี คุณมินบอกว่าอันนี้แน่นอน อย่าง3ประโยชน์ไม่ว่าเราจะไปที่ไหน ประเทศนั้นก็ต้องได้ประโยชน์ ประชาชนได้ประโยชน์ บริษัทได้ประโยชน์ ต้องเป็นประโยชน์ทั้ง3ฝ่ายจะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ อย่างข้อที่6เรื่องความซื่อสัตย์ อันนี้สำคัญมากต้องซื่อสัตย์ ถ้าไม่ซื่อสัตย์ ทุกคนต้องเข้าใจ

#ฝากข้อคิดคนรุ่นใหม่รักษาสิ่งดีๆ/สามัคคีกัน/ทำงานเป็นทีม/ทำเพื่อบริษัท
ถามถึงข้อคิดกับคนรุ่นใหม่ๆ คุณมินบอกว่าพูดถึงคนรุ่นใหม่ กับความคิดของคนรุ่นเก่าก็แตกต่างกันส่วนใหญ่คนรุ่นใหม่อาจจะมองภาพการทำงานอีกแบบ อาจจะไม่เน้นงานหนัก เงินสูง แต่คนรุ่นก่อนโน้นไม่ใช่ ขอให้มีงานทำ เน้นงาน ทุกอย่างทำเพื่อบริษัท คนรุ่นก่อนอุดมการณ์การทำงานเพื่อองค์กรสูง สำหรับผมตลอด 60กว่าปีที่ทำงานในซีพีปรัชญาการทำงานของผมก็คือทำให้สนุกก็ไม่มีอะไรและคิดว่าเป็นหน้าที่ เราต้องทำให้เรียบร้อย ถามว่าเคยคิดไหมจากร้านเล็กๆจะมาเป็นกิจการที่ใหญ่จนทุกวันนี้ อันนี้ไม่เคยคิด แต่ก็ภูมิใจที่มีส่วนทำให้ซีพีเติบโตมาถึงทุกวันนี้และที่มาถึงทุกวันนี้ก็มาจากการทำงานเป็นทีมเดียวกัน ทุกคนช่วยกัน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง ผู้บริหารก็ต้องเก่ง ท่านประธานเป็นคนเก่ง เป็นคนที่มองการณ์ไกลสามารถจะรู้ได้ว่าเวลาวิเคราะห์ท่านเก่งมาก แป๊ปเดียวก็รู้ มองอะไรเร็วมากและท่านก็ใจกว้างให้โอกาสคน เมื่อผิดก็แก้ไขปรับปรุง ผู้บริหารรุ่นก่อนก็จะเป็นแบบนี้ก็อยากให้คนรุ่นใหม่รักษาสิ่งที่ดีไว้ แต่ยุคสมัยก็เปลี่ยนไปจะบอกให้มาเหมือนเราทั้งหมดก็ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นแบบผู้บริหารรุ่นก่อนก็อยากจะฝากในเรื่องของความขยัน อดทน รับผิดชอบ ทำงานเป็นทีม มีอะไรช่วยเหลือกันเหมือนพี่น้อง ครอบครัวเดียวกัน อันนี้ก็อยู่ที่นิสัยแต่ละคน เรื่องเงินๆทองๆทำให้เครียด ก็เป็นธรรมดาต้องมี แต่ทำอย่างไรสามารถให้บริษัทอยู่ได้

ถามว่าอะไรทำให้ทำงานอยู่ที่ซีพี 60กว่าปีก็ถือว่าบริษัทให้โอกาสให้เรา มีส่วนเป็นเจ้าของและมีความผูกพัน ผู้บริหารก็ดูแลเราดี

100ปีซีพีก็ฝากว่าหากทุกคนอยากให้บริษัทเจริญกว่าเดิม ทุกอย่าง ทุกคนสามัคคีกัน ทำงานเป็นทีมทุกคนทำเพื่อบริษัท เรื่องของบัญชีอาจจะมีคนไม่เข้าใจคิดว่าแค่รับกับจ่ายแต่แท้จริงลึกๆแล้วไม่ใช่ ทุกบาททุกสตางค์หามาได้ยาก อย่าให้มีอะไรรั่วไหล ควบคุมให้ดีถ้าควบคุมไม่ดี แต่ผู้บริหารจะต้องเป็นตัวอย่างให้รู้ว่าเราทำอะไรพนักงานก็จะทำตาม วันนี้อายุ 86ปี ก็พยายามดูแลสุขภาพ

Cr:คณะทำงานด้านContent100ปีซีพี
ภาพ:สำนักโสตทัศน์